แนะ 4 ความพร้อม “ผู้เกษียณอายุ” ปรับตัวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย”

โดย PPTV Online

เผยแพร่

แพทย์แนะวิธีให้ผู้เกษียณอายุปรับตัวเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้

วันนี้ (26 พ.ย.60)  นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66 ล้านคน กลุ่มที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือกลุ่มผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 11.2 ล้านคน หรือร้อยละ 17 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ประกอบกับในวันที่ 30 กันยายนที่จะถึงนี้ ผู้ที่ทำงานในส่วนงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นวันสุดท้ายของการทำงานหรือที่เรียกว่าเกษียณอายุราชการ หากพิจารณาในเชิงของวัฏจักรการดำรงชีวิต  การเกษียณอายุก็เปรียบเสมือนกับการก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่งของชีวิตและถือเป็นเหตุการณ์ในชีวิต ที่สำคัญ ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้หลังจากนี้ ผู้เกษียณมีเวลาว่างมากขึ้น ต้องมานั่งอยู่บ้าน หลายคนอาจจะยังปรับตัวไม่ทันเพราะช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมาต้องพบปะเพื่อนร่วมงานทุกวัน และมีงาน หรือกิจกรรมที่ต้องทำทุกวัน อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจได้

สำหรับ “ผู้เกษียณอายุ” จึงต้องมีการเตรียมตัวหรือการวางแผนเพื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพที่มีความพร้อม 4 ด้าน คือ 1. ด้านสุขภาพอนามัย หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง หากิจกรรมที่สร้างรายได้ กิจกรรมการกุศลที่เสริมคุณค่าให้ตนเอง กิจกรรมการออกกำลังกายหรือกายบริหารทุกวันอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่าเพราะจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้นจนเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม ใช้กิจกรรมที่ต้องใช้สมอง เพื่อลดการเสื่อมต่างๆ ของร่างกาย ตรวจสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และฝึกจิตและสมาธิ เพื่อให้รู้จักปล่อยวาง มองโลกในแง่ดี เป็นการพัฒนาทางอารมณ์เพื่อไม่ให้แปรปรวนง่าย ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดี

2. ด้านการปรับตัวทางสังคมและจิตใจ ควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อให้ทันสมัย พูดคุยกับผู้อื่น  รู้เรื่อง และอาจให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานได้ นอกจากนี้ ลูกหลานและญาติควรให้ความสำคัญกับผู้เกษียณอายุ เพราะถือเป็นผู้สูงอายุประจำบ้าน ควรหาเวลาเพื่อพบปะหรือโทรศัพท์พูดคุยก็จะช่วยให้ผู้เกษียณไม่เหงาและเกิดภาวะซึมเศร้า 3. ด้านพฤติกรรมการออม ต้องออมทรัพย์สำรองไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ ให้เพียงพอในแต่ละเดือน จะช่วยลดปัญหาและภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้ และ 4. ด้านที่อยู่อาศัย ต้องวางแผนว่าจะพักอาศัยอยู่กับใคร อยู่ตามลำพัง หรืออยู่บ้านพักคนชรา ซึ่งที่อยู่อาศัย ควรจัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับ ใช้โถส้วมแบบนั่งราบ จัดบ้านให้โล่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวก

 

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ