การแสดงมหรสพสมโภช พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การถวายพระเพลิงพระบรมศพแต่ครั้งโบราณจัดเป็น งานใหญ่ มีมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิเป็นแบบแผนประเพณีสืบทอดกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ชมและถือว่าเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน ทั้งยังถือเสมือนเป็นการแสดงพระกฤดาธิการของพระมหากษัตริย์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการจัดมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุตามแบบแผนประเพณีเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พ.ศ.2339 ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีประกาศงดการแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ.2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นการประโคมดนตรี หรือการประโคมย่ำยาม และการมหรสพ เนื่องจากทรงเห็นว่าเพื่อไม่ให้บรรยากาศเงียบเหงาเหมือนครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2528  ทั้งยังเป็นการรักษาโบราณราชประเพณีไว้ด้วยการแสดงมหรสพสมโภชเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรประกอบด้วย

1. การแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม (หน้าพระเมรุมาศ) ที่เรียกกันว่า โขนหน้าไฟ จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ-รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้แสดงคือนาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ 12 แห่งและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้แสดง ผู้พากย์-เจรจา ผู้บรรเลง ขับร้องและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 300 คน

2. การแสดงมหรสพ ณ เวทีกลางแจ้งบริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ มี 3 เวที ประกอบด้วยเวทีที่ 1 เวทีการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และโขนเรื่องรามเกียรติ์ โดยนาฏศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากรร่วมด้วยครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จำนวน 1,020 คนและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้น 1,120 คน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ประมาณ 200-300 คน การแสดงมี 3 ส่วน ได้แก่

- การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ ผู้แสดงเป็นครูอาวุโสสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมกับครูอาวุโสสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

- การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ ขาดเศียรขาดกร และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร เป็นการแสดงของกรมศิลปากร

- การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตารทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทาน (มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ) เวทีที่ 2 เวทีการแสดงละคร หุ่นหลวง และหุ่นกระบอก ประกอบด้วย ละครเรื่องพระมหาชนก การแสดงหุ่นหลวงตอนหนุมานเข้าห้องนางวานริน การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาคร จนถึงพระฤาษีช่วยสุดสาคร รำกิ่งไม้เงินทอง ละครในเรื่องอิเหนาตอนบุษบาชมศาล-อิเหนาตัดดอกไม้-ฉายกริช-ท้าวดาหาบวงสรวงและละครเรื่องมโนห์รา ผู้แสดง บรรเลง ขับร้อง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 322 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้น 422  คน เวทีที่ 3 เวทีการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจ ไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัยและบทเพลงที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองก์ 7 องก์ ได้แก่

องก์ที่ 1 ดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า

องก์ที่ 2 ใต้ฟ้าร่มเย็น เพราะพระบารมี

องก์ที่ 3 ทวยราษฎร์น้อมสดุดี

องก์ที่ 4 ถวายภักดีองค์ราชัน

องก์ที่ 5 สถิตนิรันดร์ในใจราษฎร์

องก์ที่ 6 ปวงข้าบาทบังคมถวาย

องก์ที่ 7 สู่สวรรคาลัยในทิพย์วิมาน

และการแสดงบัลเล่ต์เรื่องมโนห์รา ผู้บรรเลง ขับร้องและผู้แสดง มาจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศกองสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Royal Bangkok Symphony Orchestra ซึ่งใช้ผู้บรรเลง ขับร้องและผู้แสดง 753  คน ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 189 คน รวมทั้งสิ้น 942 คน การแสดงทุกเวทีกำหนดเวลาเริ่มแสดง 18.00 น. ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จนถึงเวลา 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น โดยการแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ