สพฐ.เห็นด้วยข้อเสนอยกเลิกสอบเข้า ป.1 ส่งผลต่อพัฒนาการสมองเด็ก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา มีข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ว่าควรยกเลิกการจัดสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะทำให้เด็กเครียดส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกมาเห็นด้วย เพราะ ไม่เคยมีนโยบายให้จัดสอบตั้งแต่ต้น

เมื่อวันที่ (8 พ.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ในที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา ว่าต้องการให้ยกเลิกสอบคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยให้เหตุผลด้านพัฒนาการทางสมอง เพราะการสอบแข่งขัน จะทำให้เด็กในวัยนี้เกิดความเครียดซึ่งอาจส่วผลกระทบต่อพัฒนาการสมอง

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะการศึกษาในระดับชั้น ป.1 เป็นการศึกษาที่เด็กทุกคนควรได้รับสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน และที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ก็ไม่เคยมีนโยบายให้โรงเรียนจัดสอบ

ด้านรองศาสตราจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก เปิดเผยว่า ข้อเสนอยกเลิกสอบดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น โดยหลังจากนี้ต้องหารือแนวทางเพิ่มเติมว่าหากยกเลิกสอบจริง ในกรณีโรงเรียนดังและคนต้องการเข้าเรียนจำนวนมาก แต่ต้องรับจำนวนจำกัด จะมีหลักเกณฑ์การรับเด็กเข้าเรียนอย่างไรต่อไป

ส่วนกรณีที่นางสาววนาลี บุญมาก และนางสาวนิราวัลย์ เชื้อบุญมี 2 ครูสาวที่สอบบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จังหวัดตาก ซึ่งสอนมานาน 5 เดือนโดยไม่ได้รับเงินเดือน แต่กลับมีหนังสือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แจ้งว่า คณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด มีมติไม่อนุมัติการขอปรับเปลี่ยนวิชาเอก และการขอเพิ่มตำแหน่งว่างของโรงเรียน โดยไม่อนุมัติแต่งตั้งครูทั้ง 2 คน นั้น

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งให้เร่งดำเนินการนำครูทั้ง 2 คน กลับมาปฏิบัติหน้าที่ให้เร็วที่สุด  โดยให้บรรจุที่โรงเรียนเดิมก่อน พร้อมยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาดของทางการ ไม่ได้เกิดจากครูทั้ง 2 คน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ