รู้จัก “โรคลมชัก” กันดีแค่ไหน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีคนขับรถกระบะป่วยเป็นโรคลมชัก ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ทำให้เกิดอาการกำเริบขณะขับรถ จนรถพุ่งชนรถจักรยานยนต์หลายสิบคัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก วันนี้ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวี ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับโรคลมชัก จากบทความของ ‘รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า’ เพื่อทำความรู้จักและหาวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยโรคดังกล่าวนี้

วันนี้ (4 ธ.ค.60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากบทความของ รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ได้ระบุเกี่ยวกับโรคลมชักภายในเว็บไซต์ “haamor.com” ว่า เป็นโรคทางระบบประสาท คนไทยทั่วประเทศมีโอกาสเป็นโรคลมชักประมาณ 450,000 คน และประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจต่อโรคดังกล่าวมากนัก ซึ่งอาการชักจากโรคลมชัก จะต้องมีอาการชักเกร็ง กระตุก กัดลิ้น น้ำลายฟูมปาก นอกจากนี้ยังมีอาการชักได้หลายชนิดได้แก่ การชักเกร็งกระตุกทั้งตัวและหมดสติ (โรคลมชักบ้าหมู) , การชักชนิดนั่งนิ่ง เหม่อลอย , การชักชนิดทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว , การชักกระตุกเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและรู้สึกตัวดี , การชักชนิดล้มลงกับพื้นทันที และลักษณะสำคัญของการชักในโรคลมชักทุกชนิดคือ การที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังกล่าวข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 30 วินาที ถึง 3 นาที อาการนั้นหายได้เอง แต่อาการเหล่านั้นจะเกิดซ้ำๆ และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน

หลีกเลี่ยง “สิ่งกระตุ้น” ที่อาจก่อให้เกิดอาการชัก

ทั้งนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจก่อให้เกิดอาการชัก เช่น การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะไข้สูง การเล่นกีฬาหรือทำงานจนเหนื่อยมาก การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน การขาดยากันชัก ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งทุกวันให้ครบถ้วนถูกต้อง และสำหรับผู้ป่วยที่ต้องขับรถควรหลีกเลี่ยง เพราะถ้ามีอาการชักขณะขับรถจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

อ่านข่าว : หนุ่มป่วยลมชักขับกระบะย้อนศรชนยับ ตาย 2 เจ็บอื้อ

ซึ่งการช่วยเหลือที่ถูกต้องต่อผู้ป่วยที่กำลังชัก คือ การป้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและป้องกันการสำลักโดยการจับผู้ป่วยนอนลงในที่ปลอดภัย จัดตะแคงศีรษะไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย คลายเสื้อผ้าให้หลวม ไม่ควรงัดปากผู้ป่วยเพื่อนำช้อน นิ้วมือ หรือวัสดุใดๆ ใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วย เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ ไม่ควรกดหน้าอก ท้อง หรือยึดรั้งแขนขาผู้ป่วย ที่สำคัญผู้ช่วยเหลือควรตั้งสติตนเองให้ดี ภายหลังการหยุดชักทุกครั้งไม่จำเป็นต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพราะส่วนใหญ่การชักจะหยุดได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักนานมากกว่า 5-10 นาทีและไม่รู้สึกตัวหรือชักนานกว่าทุกครั้งที่มีอาการ หรือมีอุบัติ เหตุเกิดขึ้นในขณะชัก เช่น ล้มลงศีรษะแตก เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก จะมีความสามารถอยู่ในระดับสติปัญญาไม่ต่างกับคนทั่วไป ยกเว้นที่มีอาการชักที่รุนแรงและบ่อยมาก ร่วมกับมีรอยโรคหรือสาเหตุที่รุนแรงในสมอง ก็จะส่งผลต่อระดับสติปัญญาได้เช่นกัน ดังนั้นในการใช้ชีวิต การเรียน และการทำงาน การปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษา จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยในการเลือกวิธีดำรงชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามปกติแล้ว ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ต้องมีระเบียบในการดำรงชีวิต คือ ต้องรับประทานยากันชักให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการชัก ไม่อดนอน ไม่นอนดึก ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ควรขับรถ

“ผู้ป่วย 67 เปอร์เซ็นต์” ยังขับรถเป็นประจำ

นอกจากนี้การศึกษาเกี่ยวกับโรคลมชัก จากกลุ่มวิจัยโรคลมชักแบบบูรณาการ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ผู้ป่วย 30 เปอร์เซ็นต์ เคยประสบอุบัติเหตุขณะที่มีการชัก ต่อมา ผู้ป่วย 67 เปอร์เซ็นต์ ยังขับรถเป็นประจำ และ 25 เปอร์เซ็นต์ เกิดอุบัติเหตุจากการขับรถ เนื่องจากมีอาการชักขณะขับรถ ซึ่งผู้ป่วยโรคลมชักที่อยู่ระหว่างการรักษาไม่ควรขับรถ เล่นกีฬาทางน้ำ หรือกีฬาที่ต้องมีการปะทะกัน รวมทั้งการนอนดึก และการทำงานกับเครื่องจักรกล ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ขณะเดียวกันจากการศึกษา ยังพบว่า อาการชักส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ได้แก่ ผลกระทบต่อการทำงาน 54 เปอร์เซ็นต์ , ต่อความมั่นใจในตนเองเอง 51 เปอร์เซ็นต์ , ไม่กล้าอยู่คนเดียว 44 เปอร์เซ็นต์ , ต่อครอบครัว 43 เปอร์เซ็นต์ , ต่อการตั้งเป้าหมายในชีวิต 33 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากโรคลมชักเป็นโรคที่พบบ่อย ประชาชนทั่วไปและคุณครูมีโอกาสพบนักเรียนที่เป็นโรคลมชักมีอาการชักต่อหน้า และต้องให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง ทั้งนี้พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของประชาชนทั่วไปจะนำวัสดุช้อน หรือนิ้วมือเพื่องัดปากผู้ป่วย และ 64 เปอร์เซ็นต์ ของคุณครูก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง และมีเพียง 1 ใน 3 ของประชาชนเท่านั้นที่รู้ว่าโรคลมชักต้องรับ ประทานยานาน 2 ปี

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : “หาหมอ.com” , บทความของ “รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า” เรื่อง “ลมชัก (Epilepsy)”

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ