ทนายดังชี้ ผู้ครอบครอง “บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสูบก็มีความผิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทนายเกิดผล ระบุ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาญาจักร ตามประกาศ ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ส่วนคนสูบหรือ มีไว้ครอบครองเพื่อสูบ แม้มิใช่คนนำเข้า กฎหมายก็บังคับว่าต้องรู้ว่าห้ามนำเข้า หลังเกิดข้อถกเถียงกรณีเน็ตไอดอลสาวถูกจับข้อหาพกบุหรี่ไฟฟ้า

หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา นำตัวเน็ตไอดอลสาว น.ส.มนุษยา เยาวรัตน์ หรือฟลุ๊คศรี มณีเด้ง ส่งพนักงานสอบสวน หลังถูกจับกุมกรณีตรวจพบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 1 อัน และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 1 ขวด ซุกซ่อนอยู่ภายในรถยนต์ จากเหตุการณ์ดังกล่าว เน็ตไอดอลสาว ฟลุ๊คศรี มณีเด้ง โพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ จนมีหลายฝ่ายพากันพูดถึงข้อกฎหมายว่า การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าไว้เพื่อสูบ ในกรณีเดียวกับฟลุ๊คศรี มณีเด้ง นั้นผิดกฎหมายหรือไม่

เมื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น พ.ต.อ.อภิชัย กรอบเพชร ผู้กำกับการสภ.เมืองพัทยา เปิดเผยว่า กรณี ที่นางสาวมนุษยา ระบุว่าตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุหรือทำร้ายร่างกาย ให้เข้ามาแจ้งความ จะรับเรื่องดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย และจะให้ความยุติธรรม โดยพนักงานสอบสวนได้บันทึกจับกุม ดำเนินการสอบปากคำ ส่งของกลางไปยังศุลกากรเพื่อประมาณราคาและภาษี ก่อนสั่งฟ้องไปให้อัยการจังหวัดเพื่อพิจารณา เบื้องต้นพนักงานสอบสวน ระบุความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 246 ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้

ล่าสุดวันนี้ (11 ธ.ค. 60) นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ ออกมาให้ข้อมูลเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาญาจักร ตามประกาศ ของ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กฎหมายจึงหมายถึงว่า คนไทยทุกคน ตั้งแต่คลอด แล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย ต้องรู้ว่า กฎหมายห้ามนำเข้า

เมื่อกฎหมายห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร จึงต้อง เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายศุลกากร ที่บัญญัติว่า มาตรา 244 ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ส่วนคนที่ สูบ หรือ มีไว้ครอบครองเพื่อสูบ แม้มิใช่คนนำเข้า กฎหมายก็บังคับว่าท่านต้องรู้ว่าห้ามนำเข้า และการนำเข้าผิดกฎหมาย แม้ความจริง ท่านจะไม่รู้อะไรเลยก็ตาม เมื่อสิ่งผิดกฎหมายอยู่ในการครอบครองของท่าน กฎหมายจึงบัญญัติว่า ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 แปลว่ารับไว้โดยประการใดๆซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 ก็เป็นความผิด ส่วนจะแก้ตัวว่าไม่รู้ ก็คงฟังไม่ขึ้น เพราะกฎหมายปิดปาก เนื่องจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

พ.ร.บ.ศุลกากร จึงบัญญัติว่า มาตรา 246 ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง หากเป็นการกระทำโดยรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 243 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง หากเป็นการกระทำโดยรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการเข้าจับกุมของตำรวจ ที่ปรากฎตามคลิปที่พบว่าตำรวจอาจใช้ความรุนแรงในการควบคุมตัวเกินกว่าเหตุ ทนายเกิดผลมองว่า ตำรวจมีอำนาจใช้กำลังจับกุมได้ตามกฎหมาย เนื่องจากมีพฤติการณ์หลบหนี แต่อาจมีการใช้กำลังที่ไม่เหมาะสม และดูเป็นการกระทำที่รุนแรงต่อผู้หญิง

AFP

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ