วันนี้ (5 ม.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้โดยสารรายหนึ่ง ได้โพสข้อความลงบนเฟซบุ๊กของตัวเอง พร้อมกับรูปถ่ายรอยเปื้อนที่กางเกงลักษณะเป็นคราบสีขาว หลายจุดด้วยกัน ซึ่งได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวพีพีทีวีว่า เมื่อช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ (4 ม.ค.61) มีผู้โดยสารบนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ค่อนข้างอัดแน่น ตนยืนหันหน้าเข้าหาผู้ต้องสงสัย สักพักรู้สึกว่ามีมือมาสัมผัสที่เอว แต่ไม่ได้โวยวาย เพราะคนเยอะอาจจะโดนตัวกันได้ จากนั้นจึงพยายามเบี่ยงตัวหนี โดยหันข้างให้ พอลงจากลงรถที่สถานีพญาไท กลับพบว่าที่กางเกงมีรอยเปื้อนลักษณะคล้ายคราบอสุจิ หลังจากเกิดเรื่องก็พยายามติดต่อกับเพื่อนที่เป็นตำรวจ และได้ข้อมูลว่าการจะจับตัวคนร้ายนั้นต้องแจ้งความ มีหลักฐานการกระทำผิด อาจจะเป็นผลตรวจ DNA หรือ ภาพจากกล้องวงจรปิดมายืนยัน ซึ่งล่าสุดตนติดต่อไปยังแอร์พอร์ตลิงค์ แต่กลับพบข้อมูลว่า ในขบวนรถไม่มีกล้อง และหากจะขอดูกล้องด้านนอกก็ต้องไปแจ้งความก่อน
โดย ผู้เสียหายรายนี้ กล่าวต่อว่า ปกติคนใช้บริการบนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์แน่นทุกวัน จึงอาจเป็นช่องให้คนร้ายใช้จังหวะนี้กระทำความผิด และไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกลวนลามบนรถสาธารณะ เพราะก่อนหน้านี้สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ก็เคยถูกลวนลามบนรถเมล์มาแล้ว
ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เปิดเผยผลการสำรวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหญิง ชาย และเพศอื่น ๆ รวม 1,645 คน เกี่ยวกับประสบการณ์ทั้งที่ตนเองเคยถูกคุกคาม และการเห็นผู้โดยสารอื่นถูกคุกคามทางเพศ พบว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามทุกเพศ หรือมากกว่า 1 ใน 3 ระบุว่า ตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ และส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง
โดยลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ลวนลามด้วยสายตา เช่น มองช้อนใต้กระโปรง มองหน้าอก 18.8 เปอร์เซ็นต์ 2. ตั้งใจเบียดชิด แต๊ะอั๋ง ลูบคลำ 15.4 เปอร์เซ็นต์ 3. ผิวปาก แซว 13.9เปอร์เซ็นต์ 4. พูดจาแทะโลม เกี้ยวพาราสี 13.1 เปอร์เซ็นต์ และ 5. พูดลามก ชวนคุยเรื่องเพศ 11.7 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ยังพบการคุกคามรูปแบบอื่นที่ถือว่าร้ายแรง เช่น ใช้อวัยวะเพศถูไถ โชว์อวัยวะเพศ หรือสำเร็จความใคร่ให้เห็น 4.6 เปอร์เซ็นต์ เปิดภาพลามกหรือคลิปโป๊ให้เห็น 3เปอร์เซ็นต์ และตามตื้อหรือสะกดรอยตาม 2.9 เปอร์เซ็นต์ สำหรับประเภทของขนส่งสาธารณะที่กลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลพบการคุกคามทางเพศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.รถเมล์ 50 เปอร์เซ็นต์ 2.มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 11.4 เปอร์เซ็นต์ 3.รถแท็กซี่ 10.9 เปอร์เซ็นต์ 4.รถตู้ 9.8 เปอร์เซ็นต์ และ 5.รถไฟฟ้า BTS 9.6เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้พบข้อสังเกตว่ารูปแบบขนส่งสาธารณะใดที่มีผู้ใช้บริการมาก มักมีเหตุการณ์คุกคามทางเพศสูงมากตามไปด้วย ส่วนวิธีการรับมือหรือตอบโต้เมื่อถูกคุกคามทางเพศนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ ผู้ที่เคยถูกคุกคามใช้วิธีการนิ่งเฉย หลีกเลี่ยง หรือเดินหนี มากกว่าแจ้งเจ้าหน้าที่ ด้าน นางวราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ศึกษาปัญหานี้ เสนอให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดบนตัวรถหรือขบวนรถ เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้รวดเร็วและเห็นรูปธรรมชัดเจนแต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีเพียง ขสมก.ที่เริ่มใช้บ้างแล้วแต่ก็เป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น และควรมีการเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบหากมีการแจ้งความ รวมทั้งควรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพื่อรับมือหากเกิดเหตุ