ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าเป็นนักการเมือง หลังก่อนหน้านี้ตลอด 3 ปี 7 เดือน ที่เข้ามาบริหารประเทศ ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้เป็นนักการเมือง ในมุมมองของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหน้าหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการแสดงตัวชัดเจน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพร้อมรับคำวิจารณ์แบบนักการเมืองด้วย ความเห็นนี้ ตรงกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฏหมายพรรคเพื่อไทย ที่มองว่า ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์มักไม่ยอมรับการวิจารณ์แต่หากเป็นนักการเมืองต้องพร้อมรับฟังทุกฝ่าย
จากความเคลื่อนไหวนี้ ทำให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ แสดงความเห็นไปในแนวทางเดียวกันเพื่อป้องกันไม่ให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยฝ่ายพรรคเพื่อไทย เสนอให้ทุกพรรคการเมืองแสดงจุดยืนปฎิเสธนายกรัฐมนตรีคนนอก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นนักการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องการลบภาพของทหารที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ในทางปฎิบัติต้องยอมรับว่าทำได้ยากเพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นของหัวหน้า คสช.ก็เท่ากับว่ายังเป็นทหาร พร้อมกันนี้มองว่า โอกาสที่สองพรรคใหญ่จะจับมือกัน มีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐบาลทหารยังแสดงบทบาทเช่นนี้
ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า จากนี้ไปจะไม่มีการปฏิวัติอีก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา มองว่า ทุกครั้งหลังมีการปฏิวัติ ก็มักจะมีการออกมาพูดเช่นนี้ แต่หากพิจารณาตามหลักความจริง การปฏิวัติก็ไม่ควรเกิดขึ้นอีก