อาจารย์นิด้าคาดปม “ผอ.นิด้าโพล” ลาออก ถูกห้ามเผยแพร่โพล “นาฬิกาหรู”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ เชื่อว่าเหตุผลของการลาออก เป็นผลมาจากถูกสั่งห้ามเผยแพร่ผลสำรวจประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

วันนี้ (28 ม.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใจความสำคัญของข้อความที่ นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว คือ ขอลาออกจากตำแหน่งทันทีในวันพรุ่งนี้ พร้อมกับตัดพ้อในความหมายว่า จำเป็นต้องรักษาเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้สาเหตุของเรื่องนี้เชื่อได้ว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง  การเผยแพร่โพลความเห็นประชาชนต่อสถานการณ์การเมือง เนื่องจากในข้อความ ได้พูดถึงการทำงานของรัฐบาล คสช.

ทีมข่าวพีพีทีวี พยายามสอบถามไปยัง นายอานนท์ ได้รับคำตอบว่า เวลานี้ยังไม่สะดวกชี้แจงสาเหตุของการลาออก และจะให้ข้อมูลได้ในช่วงเย็นวันนี้

หลังจากข้อความของผู้อำนวยการนิด้าโพสต์ได้ไม่นาน รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึง สาเหตุการลาออกของ นายอานนท์ เป็นผลมาจาก ผลสำรวจประชาชาชนที่กำลังจะถูกเผยแพร่ชุดต่อไป

ทีมข่าว ติดต่อไปยัง รศ.พิชาย อธิบายว่า ผลสำรวจที่เป็นปัญหาครั้งนี้ คือ ผลสำรวจความเห็นประชาชน ไม่เชื่อว่านาฬิกาหรู ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยืมมาจากเพื่อน เมื่อนำผลสำรวจนี้เสนอต่อผู้บริหาร พบว่า ถูกสั่งห้ามเผยแพร่ จึงเป็นเหตุผลให้ นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ มองว่า การสั่งห้ามเผยแพร่ ถือเป็นการแทรกแซงทางวิชาการ จึงขอยุติบทบาทด้วยการ ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”

ขณะที่ก่อนหน้านี้ “นิด้าโพล” ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ความเชื่อมั่นต่อการทำงานตรวจสอบรัฐบาล ของ ป.ป.ช. พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76 เชื่อว่ามีความผิดปกติ หรือไม่โปร่งใสในรัฐบาล หรือ คสช. และร้อยละ 61 ระบุว่า มีการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. จากรัฐบาล หรือ คสช. กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเป็นอย่างมากต่อผลสำรวจนี้ จึงมีการคาดการณ์ว่า อาจเป็นอีกปมสาเหตุการตัดสินของนายอานนท์ หรือไม่

ขณะที่วันนี้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไร หลัง สนช. มีมติให้แก้ไขมาตรา 2 ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป และอาจจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ” พบว่า ประชาชน ร้อยละ 48.27 อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 27.81 เห็นว่า ถ้าการเลื่อนเลือกตั้งส่งผลดีทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ยอมรับได้ ร้อยละ 26.07 เห็นว่า กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศเป็นการสืบทอดอำนาจ

ขณะที่ ร้อยละ 47.05 ไม่เห็นด้วยหากต้องเลื่อนเลือกตั้งออกไป เพราะเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ประเทศ ส่วนร้อยละ 20.51 เห็นด้วย หากเลื่อนเลือกตั้ง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ