ผอ.นิด้าโพลย้อนรอยผลงานยุค“ยิ่งลักษณ์”อัดคำสั่งอธิการบดี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชัดเจนแล้วว่า เหตุผลสำคัญที่ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล ขอยุติบทบาท คือ การถูก อธิการบดีนิด้า ระงับเผยแพร่ ผลโพลเรื่อง นาฬิกาหรู ที่อาจพาดพิงถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อธิการบดีนิด้า ให้ความเห็น ว่าผลการสำรวจดังกล่าว หากเผยแพร่ออกไป ผลสำรวจความคิดเห็นชิ้นนี้อาจชี้นำสังคมและกระบวนการตรวจสอบ

เมื่อวันที่ (29 ม.ค. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของ 2คนในวันนี้ สะท้อนความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ระหว่าง นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล และ รศ.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า  ต่อจุดยืน การเผยแพร่โพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องนาฬิกาที่อาจถูกตีความและเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

โดย รศ.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีนิด้า ขยายความถึงสาเหตุการสั่งระงับเผยแพร่โพลชุดนี้ว่า เมื่อพิจารณาจากคำถาม สุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายให้กับตัวบุคคลที่กำลังถูกกล่าวหา  และส่วนตัวเห็นว่า การทำโพลเรื่องการเมืองลักษณะนี้ ต้องไม่สร้างผลกระทบให้กับใคร หรือ มีความตั้งใจเฉพาะเจาะจงไปที่ตัวบุคคล 

จากการแถลงข่าวของ รศ.ประดิษฐ์ เกิดขึ้นหลัง นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ประกาศยุติบทบาทอย่างเป็นทางการผ่านสื่อมวลชน เมื่อช่วงเช้าวันนี้ โดยระบุว่า รับไม่ได้กับแนวทางของอธิการบดีนิดา ที่สั่งให้ส่งผลโพลที่สำคัญโดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองให้ตรวจสอบก่อนเผยแพร่ทุกชิ้น โดยยืนยัน พฤติกรรมแบบนี้ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ

พร้อมประกาศชัดเจนว่า จะไม่ขอกลับมาทำหน้าที่นี้อีกต่อไป หากนิด้ายังมีนโยบายเรื่องการทำโพลตามแนวทางของอธิการบดีคนปัจจุบัน โดยเน้นย้ำว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงจากคสช. เป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้บริหารนิดา  

อีกประเด็นหนึ่งที่วันนี้ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เน้นย้ำถึงสาเหตุการตัดสินใจยุติบทบาท เพราะต้องการรักษาการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาทางวิชาการของนิด้าโพล โดยยกตัวอย่าง ในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์มาเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นว่า แนวทางของอธิการบดีคนปัจจุบัน ไม่เหมือนกับแนวทางในอดีต

ทีมข่าว PPTV ค้นหาผลสำรวจย้อนหลังของนิด้าโพล พบว่า เคยทำเกี่ยวข้องคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์หลายช่วง เช่น คือ เรื่อง “การแก้ไขปัญหาจำนำข้าว ในมุมมองของเกษตรกร” หนึ่งในคำถามที่สำคัญ คือ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ จากการที่รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้แก่ชาวนาได้  ผลสำรวจส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.92 ระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ผลสำรวจนี้ถูกเผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557

อีกชิ้นคือถูกเผยแพร่เดือนพฤศจิกายน 2557  เรื่อง “การหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว”  โดยประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.15 ระบุ ควรหาผู้รับผิดชอบทั้งทางการเมือง คือการถอดถอนออกจากตำแหน่ง และทางอาญา คือ การดำเนินการส่งฟ้องศาลบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทุกคน    

โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์และพฤศจิกายน 2557  เป็นช่วงที่  ป.ป.ช. มีมติเรียก นางสาวยิ่งลักษณ์ ให้มาพบ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา ละเลยไม่ระงับยั้บยั้งโครงการรับจำนำข่าวทั้งที่รู้ว่า มีการทุจริตเกิดขึ้น  ใกล้เคียงกับขั้นตอนของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่วันนี้คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินอยู่ในชั้นการทำงานของป.ป.ช. และกำลังจะสรุปสำนวนส่งให้คณะกรรมการป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิด  

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ