“ประวิตร” ใช้ รปภ.นับสิบ หนีสื่อไม่ตอบคำถาม เจอมรสุมกดดัน “ลาออก”

โดย PPTV Online

เผยแพร่

นับตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร ตัดพ้อว่า พร้อมลาออกหากประชาชนไม่ต้องการ ก็กลายเป็นความเคลื่อนไหวกดดัน ทั้งการทำโพลในสื่อออนไลน์ และการออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะ วันนี้เตรียมคำถามเรื่องนี้ให้พล.อ.ประวิตร ชี้แจง แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงตัวได้

เมื่อวันที่ (2 ก.พ. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวะฝ่าวงล้อมสื่อ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี วันนี้ใช้ทีมรักษาความปลอดภัย นับ 10 คน ตั้งแถวซ้ายและขวา กันสื่อมวลชนรุมสัมภาษณ์หลังมีแรงกดดันอย่างหนัก จากโพลออนไลน์ และการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ให้ “ลาออก” แสดงความรับผิดชอบ กับข้อครหาปกปิดบัญชีทรัพย์สินเป็นนาฬิกาหรูหลายสิบเรือน  ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้นภารกิจมอบนโยบายเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติ และออกใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวที่ทำเนียบรัฐบาล

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบนาฬิกาหรู  พลตำรวจเอกวัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. คาดว่าจะสอบพยานแล้วเสร็จ ปลายเดือนนี้ ก่อนพิจารณาว่าหลักฐานเพียงพอนำไปสู่การตั้งอนุกรรมการไต่สวนหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า หากพล.อ.ประวิตรตัดสินใจลาออก ก็ไม่มีผลกับการดำเนินการของ ป.ป.ช.

ขณะที่กระแสกดดัน พล.อ.ประวิตร ให้ลาออกรับผิดชอบ ปมนาฬิกาหรู  มีกระแสข่าวว่า ฝ่ายความมั่นคง ให้ทหาร ไปขอความร่วมมือ นิสิต-นักศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลี่ยงการล้อผู้นำและประเด็นนาฬิกาหรู ในงานฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 72 ในวันพรุ่งนี้

ทีมข่าวพีพีทีวี ได้สอบถามไปยังพลตรีสุวิทย์ เกตุศรี ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้  พลตรีสุวิทย์ ปฏิเสธไม่มีการสั่งห้ามและมองว่าเรื่องนี้เป็นงานประเพณีสร้างสัมพันธ์ที่ดีของ 2 มหาวิทยาลัย พร้อมย้ำว่า กองทัพมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัย และป้องกันมือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์เท่านั้น สอดคล้องกับ พันเอกวิธัย สุวารี โฆษก คสช. ที่ชี้แจงว่า เป็นเพียงการขอความร่วมมือ ให้ระมัดระวังการแสดงออก ส่วนการพิจารณาว่ากิจกรรมใดมีความเหมาะสมหรือไม่ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติงาน  โดยยังสอบถามกับแหล่งข่าวใน คสช. อีกคนหนึ่ง ได้รับคำชี้แจงว่า ไม่ได้มีการสั่งห้ามเรื่องดังกล่าว และไม่กังวลกับเรื่องนี้ โดย คสช. แค่เตือนให้ระวัง การนำเสนอเนื้อหาที่สุ่มเสียงผิดกฎหมาย เช่น การพาดพิงหมิ่นประมาทบุคคลที่ 3 ที่ทางผู้จัดอาจต้องรับผิดชอบหากบุคคลที่ถูกพาดพิงไปฟ้องร้องดำเนินคดี

นายวัส ตังสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า การสั่งห้ามลักษณะนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะล้อการเมือง ในฟุตบอลประเพณีเป็นกิจรรมที่ทำกันมาอย่างยาวนาน เพื่อสะท้อนการเมืองตามยุคสมัย ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง   ส่วนจะมีการเคลื่อนไหวประกาศจุดยืนในรูปแบบอื่นหรือไม่ นายวัส ก็ขอให้ดูเป็นรายกรณี

 

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ