5 เรื่องที่ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ทำให้ปวดใจ !!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สำหรับรถไฟฟ้า “บีทีเอส” เป็นที่รู้กันว่ามีปัญหาขัดข้องเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เรื่อยๆและยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้บริการที่มีให้ได้เห็นอยู่เสมอ มีทั้งที่ได้รับการแก้ไขและไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้ทีมนิวมีเดียพีพีทีวีได้รวบรวม 5 ปัญหาที่คนไทยต้องเจอจากรถไฟฟ้าบีทีเอส มาดูกันว่ามีปัญหาใดบ้าง

“รถไฟฟ้าบีทีเอส” เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และยังเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย จากวันแรกจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 18 ปีแล้ว แม้จะมีการพัฒนาให้ทันยุคทันสมัย แต่ราคาของรถไฟฟ้าก็มีการปรับขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รถไฟฟ้าที่มักจะมีปัญหาให้ปวดใจอยู่เป็นระยะ 

ปัญหาบีทีเอสขัดข้อง ที่พบได้บ่อยจนบางคนอาจชินและชาไปแล้ว โดยจากการรวบรวมข้อมูลในปี 2560 โดยนับตั้งแต่ ม.ค.-ธ.ค.60 รวมระยะเวลา 1 ปี ผลที่ได้คือขัดข้องทั้งหมด 52 ครั้ง หรือเฉลี่ยกว่าเดือนละ 4 ครั้ง โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่รถไฟฟ้าบีทีเอสมีปัญหาขัดข้องบ่อยครั้ง เพราะหน่วยควบคุมการเดินรถ พบสัญญาณการเดินรถมีประสิทธิภาพไม่เต็มร้อย เช่น ประตูทางเข้าเสีย และตัวรถไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ จึงต้องสั่งให้มีการชะลอหรือหยุดการเดินรถเพื่อแก้ปัญหาก่อน ซึ่งปีนี้จะเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ว่าไงคนกรุง? ปี’60 บีทีเอสขัดข้องเฉลี่ยเดือนละ 4 ครั้ง

ต่อมาคือปัญหาจาก เครื่องจำหน่ายตั๋วแบบหยอดเหรียญ หลายคนคงบ่นในใจว่าทำไมจะต้องต่อแถวแลกเหรียญเพื่อไปต่อแถวอีกครั้งเพื่อซื้อตั๋ว ทำไมถึงซื้อตั๋วที่ห้องตั๋วโดยสารครั้งเดียวไม่ได้ ? หากไม่มีเหรียญเพียงพอผู้โดยสารจะต้องเสียเวลาไปกับการแลกเหรียญเพิ่ม และสามารถพบเห็นคนตั้งกระทู้ผ่านเว็บไซต์พันทิปเกี่ยวกับปัญหานี้ได้บ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันได้มีการเพิ่มตู้ที่สามารถรับธนบัตรได้เข้ามา แต่ถึงแม้จะมีการแก้ไขด้วยการเพิ่มตู้ที่สามารถรับธนบัตรได้แล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสารที่ใช้งานจำนวนมาก ในอนาคตหากสามารถเปลี่ยนทุกตู้ให้สามารถรับธนบัตรได้ก็จะช่วยลดเวลาที่เสียไปในการซื้อตั๋วลงได้อย่างมาก

ปัญหาเกี่ยวกับตั๋วโดยสารที่ตามมาคือ ค่าโดยสารราคาแพง แต่กลับไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกที่ดี การซื้อตั๋วที่ยุ่งยากและยังมีราคาแพง แต่จำเป็นต้องใช้เนื่องจากการจราจรในกรุงเทพฯล่าช้า ล่าสุดเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว ได้มีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารใหม่ โดยเริ่มจ่ายจริง 31 มีนาคม ที่จะถึงนี้ จากเดิมราคาเริ่มต้น 15 - 42 บาท เป็น 16 - 44 บาท และเพิ่ม 15 เมื่อเดินทางไปยังสถานีส่วนต่อขยาย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : 1 ต.ค.60 เพิ่มค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส

อีกปัญหาที่ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาได้คือ ที่กั้นอัตโนมัติกระแทกสะโพก โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งแคมเปญขึ้นในเว็บไซต์ change.org โดยใช้ชื่อว่า “เปลี่ยนซะทีเหอะ...ที่กั้นรถไฟฟ้าให้มันไม่กระแทกสะโพกจนม่วง” โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 4,787 คน เนื่องจากที่กั้นปิดเร็วเกินไป ในหลายครั้งที่ไม่สามารถก้าวทันและโดนกระแทกอย่างแรงจนเป็นรอยช้ำ หากสามารถแก้ไขให้ความแรงลดลงหรือปิดช้าลงจะเป็นผลดี เพราะถ้าเด็ก คนชรา หรือสตรีมีครรภ์ ได้รับแรงกระแทกเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้

และล่าสุด เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.61) กับปัญหา บันไดเลื่อนยุบ ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพญาไท เกิดการยุบตัวขณะที่ผู้โดยสารกำลังใช้บริการ ได้มีแผ่นลูกบันไดเลื่อนจำนวน 1 แผ่น หลุดออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดช่องโหว่ สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากพลัดตกลงไป ทั้งนี้ เหตุการณ์นี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด และได้สั่งการให้ตรวจสอบการทำงานของบันไดเลื่อนทุกตัว ในทุกสถานี เป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นอีก

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : เดชะบุญ! สาวโพสต์เฟซบุ๊กขั้นบันไดเลื่อน BTS พญาไทหลุดรอดหวุดหวิด

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ