ผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำเพราะ "สังคมไม่ให้โอกาส หรือ กลัวตราบาปในใจ"


โดย Kochaphan Suksujit

เผยแพร่




“อย่าให้กลับเข้ามาในนี้ไม่มีไรดีหรอกครับ ถึงแม้ว่าเพื่อนจะเยอะ แต่ร้อยพ่อพันธุ์แม่ ต่างคนต่างไม่รู้ใจตัวเอง ขาดอิสรภาพ เหมือนนกอยู่ในกรงเขาป้อนให้กิน สู้ไปอดตายอยู่ข้างนอกแล้วไปบินได้ยังดีกว่า”

ความในใจของผู้ต้องขังชาย เรือนจำพิเศษกรุงเทพ วัย 35 ปี ต้องโทษคดีสุดท้าย “พรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร และข่มขืนกระทำชำเรา” แม้ว่าจะต่อสู้จนถึงชั้นศาลฎีกา แต่สุดท้ายถูกตัดสินโทษจำคุก 13 ปี 6 เดือน ซึ่งตอนนี้เหลืออีก 5 ปี ก็จะได้รับ “อิสรภาพ” อีกครั้ง

ที่ต้องใช้คำว่า “ได้รับอิสรภาพอีกครั้ง” เพราะก่อนหน้านี้เขากระทำความผิดมาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรก ปี พ.ศ.2547 นักศึกษาหนุ่มไฟแรงคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐบาล มีความสามารถด้านการต่อยมวยแต่เพราะอารมณ์ร้อนจึงต้องโทษคดีทำร้ายร่างกาย ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่รอลงอาญาไว้ก่อน

อีก 3 ปีต่อมา พ.ศ. 2551 ครั้งแรกของการได้ก้าวเข้าสู่ประตูคุกจริง เจอข้อหารับของโจร ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 2 ปี 7 เดือน แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เหลือ 1 ปี 8 เดือน ครั้งนั้นเขาเล่าให้ฟังว่าหลังได้รับการปล่อยตัว ก็ออกไปหางานทำสุดท้ายถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลเดียวคือ “ผ่านการติดคุกแล้วไม่รับ” สุดท้ายใช้ความสามารถพิเศษไปเป็นครูสอนต่อยมวย

แต่....เหตุการณ์ก็เหมือนเดิมทะเลาะวิวาทจนโดนข้อหาทำร้ายร่างกาย ตัดสินโทษจำคุก 12 เดือน แต่ไกล่เกลี่ยได้ สุดท้ายความประมาทไปมีความสัมพันธ์กับเยาวชนอายุไม่ถึง 15 ปี จนท้อง ครอบครัวฝ่ายหญิงรับไม่ได้ ถูกดำเนินคดีจนต้องโทษจำคุก ข้อหา “พรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร และข่มขืนกระทำชำเรา”แม้จะต่อสู้จนถึงชั้นศาลฎีกาแต่สุดท้ายก็ต้องโทษจำคุก 13 ปี 6 เดือน ถึงปัจจุบันเหลือเวลาอีกประมาณ 5 ปี

เขาจะได้รับอิสรภาพอีกครั้งในวัย 40 ปี ซึ่งเขาหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย

“ ยังไงก็ไม่มีทางกลับมาแน่นอนครับ จะเอาชีวิตที่ได้จากข้างในนี้ ไปใช้ข้างนอกจะสอนลูกหลานสิ่งโน้นไม่ดี สิ่งนี้ไม่ดี”

คำพูดหนักแน่นที่คล้ายจะสัญญากับตัวเอง เขาจึงใช้เวลาในแต่ละวันฝึกฝนตัวเอง เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างของทางเรือนจำ ตั้งแต่ ฝึกแถว สอนมวย จนได้เลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมทำให้ได้ลดโทษเดือนละ 5 วันเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ต้องขังที่เคยทำผิดซ้ำ แล้วต้องกลับเข้ามาในเรือนจำอีก

ตามข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ พบว่าผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัวในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 146,199 คน มีเลขบัตรประชาชน 121,155 คน ในจำนวนของผู้ต้องขังที่มีเลขบัตรประชาชนพบผู้กระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี 17,180 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.18

2 ปัจจัยสำคัญคือ “สังคมไม่ให้โอกาส-นักโทษตีตราบาปให้ตัวเอง” เส้นบางๆที่วนอยู่ในใจของผู้ต้องขัง

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เคยกล่าวในงาน เสวนาภายใต้หัวข้อ “ก้าวที่พลาดกับโอกาสในการแก้ไขมิติใหม่แห่งความร่วมมือ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ” เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ว่า  มี 2 ประเด็นที่ทฤษีอาชญาวิทยา บอกคือ ผู้กระทำผิดมักจะคิดในใจของเขาเปรียบเทียบว่ามีความทุกข์หรือมีความสุขมากกว่ากันในการก่ออาชญากรรมต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งความสุขที่กรมราชทัณฑ์จัดสรรไปให้ยังไม่เพียงพอ มีการทำกันในเรือนจำ เฉพาะจุด เฉพาะที่ แต่ยังไม่มีกฎหมายให้ประโยชน์กับสถานประกอบการหากรับคนเหล่านี้ไปทำงาน

และแม้ว่าที่ผ่านมาแม้หลายหน่วยงานจะร่วมสนับสนุนการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง หรือมีกระบวนการในการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า สังคมยังมีอคติกับผู้พ้นโทษเหล่านี้ ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับกระแสข่าวการกระทำผิดซ้ำของอดีตผู้ต้องขังยิ่งทำให้สังคมยากที่จะยอมรับ ซึ่งในทางอาชญาวิทยาทฤษฎีตรา (labeling) และทฤษฎีตราบาป (stigma) บ่งชี้ว่า มนุษย์ย่อมมีอคติต่อผู้ต้องขังพ้นโทษมาแล้ว

เมื่อรู้ประวัติย่อมไม่มีใครกล้ารับเข้าทำงาน ทำให้โอกาสการกลับเข้าสู่สังคม (reintegration) อย่างเรียบร้อยราบรื่นของบุคคลเหล่านี้นั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บีบให้ผู้พ้นโทษหลายรายหวนกลับไปทำผิดซ้ำตาม ตราที่สังคมมอบให้

จึงเกิด “ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ” ขึ้นในเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ หรือ Care เป็นตัวกลางในการจัดหางาน ช่วยเหลือคนที่พ้นโทษมีปัญหากลับมาปรึกษาให้มีงานทำเพื่อนำความรู้ที่ได้รับการศึกษาออกไปประกอบอาชีพโดยสุจริตหาเลี้ยงตนเองได้

โดยทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับกระทรวงแรงงานโดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดหาอาชีพ จัดหางาน ไว้รองรับนักโทษที่ได้รับการฝึกวิชาชีพ และตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงาน ฝึกอาชีพในเรือนจำ ประสานเครือข่ายหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการสำรวจตำแหน่งว่างความต้องการของตลาดแรงงานให้ผู้ต้องขังมีโอกาสเลือกงานที่อยากทำ ผู้ประกอบการได้คนงานตามที่ต้องการ ผ่านศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำของเรือนจำ เป็นตัวกลางคอยติดต่อทั้งหมด ทำให้ผู้ต้องขังคลายกังวล

นอกจากนี้ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้มีโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำ ซึ่งล่าสุดเป็นครั้งที่ 4/2561 จำนวน 30 คน โดยมีหน่วยงานปกครอง ตามพื้นที่ภูมิลำเนาขอผู้ต้องขัง จำนวน 6 แห่ง และหน่วยงานด้านการปราบปราม จำนวน 9 แห่ง ร่วมกับผู้บัญชาการเรือนจำ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ วางแผนและหาแนวทางป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ และป้องกันอาชญากรรมที่จะเกิดกับสังคม ภายหลังผู้ต้องขังพ้นโทษ

ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สร้างภูมิต้านทานที่เข้มแข็งที่จะทนต่อสิ่งที่เสียดทานของสิ่งแวดล้อมไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีกซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

“สังคมภายนอกเข้าใจว่าทำไมเข้ามาแล้วออกไป ด้วยความที่ผมอยู่ในนี้มา 5 ปีกว่า ผมเห็นคนออกไป 500-600 คน เข้ามา 10 คนหน้าเดิมๆ มันแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่คนเขาเหมารวมหมด เหมือนปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งเข่ง เลยอยากบอกว่าถ้าได้โอกาส ให้ทำตัวให้พวกเขาได้เห็นว่า นักโทษที่เคยมีมลทิน ออกไปแล้วจะไม่ทำกลับมาซ้ำอีก”

ผู้ต้องขังกล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมราชทัณฑ์ , เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ