ทช.แจ้งความเอาผิดเรือประมงจับฉลามวาฬ พร้อมอายัดเรือ-ปลาที่จับได้ชั่วคราว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งความดำเนินคดีเรือประมงอวนลากจับฉลามวาฬขึ้นมาบนเรือ โดยตั้งข้อหาหนักร่วมกันล่าหรือ พยายามล่าสัตว์ป่าสงวน มีโทษจำคุกและปรับสูงสุดถึง 3 ล้านบาท

วันนี้ (20 พ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีคลิปวิดีโอเหตุการณ์ขณะเรือประมงลำหนึ่ง นำฉลามวาฬขึ้นเรือ ก่อนจะถูกกลุ่มนักดำน้ำจากเรือไดรฟ์วิ่งลำหนึ่งช่วยกันกดดัน จนปล่อยกลับลงทะเล ซึ่งมีผู้นำมาเผยแพร่บนโซเชียล พร้อมระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกลางทะเลใกล้เกาะราชา อำเภอเมืองภูเก็ต วันที่ 18 พฤษภาคม จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก 

โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ นำโดย พลเรือเอกพิเชฐ ตานะเศรษฐ เสนาธิการทหารเรือ พร้อมกำลังสหวิชาชีพ เข้าตรวจสอบเรือแสงสมุทร 3 และแสงสมุทร 2 ที่จอดเทียบท่า จังหวัดภูเก็ต เบื้องต้นไม่พบสัตว์น้ำ เครื่องมือประมงผิดกฏหมาย จากสอบปากคำกัปตัน ลูกเรือทั้งชาวไทยและเมียนมาร์ ทั้งหมดให้การสอดคล้องกันว่า ระหว่างทำประมงบริเวณใกล้เกาะราชา ขณะยกอวนขึ้นเรือพบว่ามีฉลามวาฬอยู่ภายใน จึงช่วยเหลือเตรียมปล่อยลงทะเล แต่ฉลามวาฬมีน้ำหนักมาก จึงใช้เครนยกขึ้น 

ขณะที่เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองภูเก็ต ในข้อหา กระทำการอันสงสัยว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การประมง 2559 เรื่องการกำหนดชนิดสัตวเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำหายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับ หรือห้ามนำขึ้นเรือประมง โดยได้อายัดเรือทั้งสองลำและสัตว์น้ำที่จับได้ในเรือไว้ชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา หากพบกระทำความผิดจริง จะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะมีโทษปรับขั้นต่ำที่ 300,000 บาทถึง 3 ล้านบาท หรือประมาณ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำ 

ด้านนายนเรศ ชูผึ้ง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ได้รับคำสั่งการจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับไต้ก๋งเรือ แสงสมุทร 3 และแสงสมุทร 2 ข้อหา ร่วมกันล่าหรือ พยายามล่าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการ โดยแจ้งเพิ่มเติมจากที่ ชุดสหวิชาชีพ ของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 3 ได้แจ้งไว้ก่อนหน้า

อย่างไรก็ตามแม้ลูกเรือและไต้ก๋งเรืออวนลาก จะปฏิเสธว่าไม่ได้มีเจตนาจับฉลามวาฬ และพยายามช่วยเหลือปล่อยกลับทะเล แต่ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มสัตว์ทะเลหายากมีความเห็นว่า หากเป็นเรืออวนลากทั่วไป จะไม่ยกฉลามขึ้นเรือ แต่จะมีวิธีการช่วยชีวิต เช่นปลดอวน หรือตัดอวน เพื่อให้สัตว์มีชีวิตรอด ขณะที่การค้นหาตัวฉลามวาฬ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยเกือบ 3 ชั่วโมงของภารกิจค้นหาฉลามวาฬ พบว่าทัศนวิสัย และท้องฟ้าปิด มีกลุ่มฝน ประกอบกับน้ำทะเลมีความลึก ทำให้ผิวน้ำเป็นสีดำ ส่งผลให้การมองหรือสังเกตุฉลามวาฬเป็นไปได้ยาก  โดยเฉพาะกรณีหากฉลามวาฬตาย และจมลง จะไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะจากผิวของฉลามวาฬกลืนกับสีของน้ำ ทำให้วันนี้การค้นหาต้องยุติชั่วคราว และรอการค้นหาใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้พิกัด จีพีเอส จุดที่ฉลามวาฬถูกทิ้ง ถูกนำมาเป็นข้อมูลการติดตาม ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่าบริเวณที่ฉลามวาฬถูกทิ้ง อยู่ระหว่างเกาะเฮ เกาะโหลน ต่อเนื่องเกาะบอน จังหวัดภูเก็ตนอกจากการค้นหาด้วยสายตา ยังนำเอาระบบ เอคโค่ ซาวเดอร์ หรือการค้นหาด้วยคลื่นโซน่าใต้ท้องเรือ และระบบจีพีเอส มาร่วมการค้นหาด้วย นอกจากการค้นหาแล้ว ทางทีมสัตวแพทย์ เตรียมอุปกรณ์ สำหรับดูแลทั้งในกรณีพบฉลามวาฬรอดชีวิต และกรณีที่พบว่าตายแล้ว ขณะเดียวกันปฏิบัติการค้นหาครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 24 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 40 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันออกทางด้านเกาะพีพี  ซึ่งผลการตรวจสอบค้นหามี 2 กรณี คือหากพบฉลามวาฬยังมีชีวิต แต่บาดเจ็บจะนำไปรักษาที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ทะเล และหากพบว่าเสียชีวิตแล้ว จะผ่าชันสูตรซาก โดยจะนำผลไปใช้เป็นหลักฐานทางคดีแต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบฉลามวาฬตัวดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่จะยังคงเร่งค้นหาและเฝ้าระวังต่ออีกประมาณ 3 - 5 วัน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ