เป้าประสงค์ของ ทปอ. คือจะแก้ปัญหาเด็กนักเรียนไม่เรียนในห้องเรียนจนจบชั้นม.6 เพราะสอบแอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว และต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กรวยกับเด็กจน เพราะเด็กรวยมีโอกาสเดินทางไปสอบตามมหาวิทยาลัยได้หลายมหาวิทยาลัยมากกว่า มีโอกาสมากกว่า และสำหรับการสอบเอ็นทรานส์เอง การวัดดวงกันไปเลยได้แค่ครั้งเดียว ก็เป็นการตัดโอกาสเด็กไป
-5 รอบสอบ TCAS เด็กมารุมอยู่รอบ 3
TCAS จึงวางระบบให้เด็กสอบได้ถึง 5 รอบ คือรอบแรกเป็นรอบยื่น Portfolio รอบที่ 2 เป็นระบบโควตา ที่จะมีการสอบวิชาเฉพาะ รอบที่ 3 เป็นรอบใหญ่ที่สุด เด็กสอบมากที่สุด เรียกว่า โครงการรับนักศึกษาแบบรับตรงร่วมกัน รอบที่ 4 เป็นรอบแอดมิชชั่น และรอบสุดท้าย คือรอบที่ 5 รับตรงอิสระ
แต่รอบที่มีปัญหามากที่สุด เป็นรอบ 3 ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
“เฟม” นายคีตพงศ์ นามวัฒน์ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนหอวัง บอกทีมข่าว PPTVHD36 ว่า รอบ 3 เป็นรอบที่คนมุ่งหวัง และคาดหวังว่าจะสอบได้มากที่สุด เพราะว่าการสอบรอบแรก หรือ รอบ Portfolio นั้น คนที่จะเข้ารอบนี้ได้ จะต้องเป็นคนที่มีเกรดเฉลี่ยสูงมาก เช่น สอบเข้ารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนี้ ตั้งเกณฑ์ว่าต้องมีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.75 ขณะที่คณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน ถ้ามาสอบรอบที่ 3 จะใช้เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 หรือ 2.75 เป็นเกรดต่ำสุด ทำให้เด็กมีโอกาสมากกว่า
- Portfolio รับเกรดเฉลี่ยสูงลิบ-เด็กสอบเวทีระดับชาติ มีโอกาสก่อน
ในขณะที่การยื่น Portfolio แม้เด็กจะทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อมาสอบเข้าคณะที่ตนเองมุ่งหวัง แต่ในเปอร์เซ็นต์การรับที่น้อยนิดนั้น คณะกรรมการของแต่ละมหาวิทยาลัยย่อมต้องมอง และคัดเลือกเด็กที่ผ่านการสอบเวทีใหญ่ๆ มาก่อน เช่น สสวท. หรือโอลิมปิค คนที่ไม่เคยไปสอบเวทีระดับชาติเหล่านี้ โอกาสย่อมมาทีหลัง นี่คือความเครียดแรก
คนจำนวนน้อยนิดมากจึงจะได้เปรียบในรอบแรก ขณะที่คนที่แม้มี Portfolio แต่ก็ใช่ว่าจะได้รับคัดเลือก และยิ่งไปกว่านั้น คือการยื่น Portfolio ยังมีค่าการทำเล่ม และค่าสมัครที่มีตั้งแต่ 200-1000 บาทต่อครั้ง หากยิ่งสมัครเยอะ รายจ่ายยิ่งเยอะตามมา ปิดประตูคนจนตั้งแต่ประตูแรก เช่นเดียวกับรอบ 2 รอบโควตา ที่จะมีการสอบวิชาเฉพาะ ก็จะมีสอบข้อเขียน สำหรับเด็กในพื้นที่
-เครียดจัด สมัครไม่ได้ ระบบล่ม
ทำให้เด็กหลายคนมุ่งหน้าไปสู้กันในศึกใหญ่ TCAS รอบ 3 ที่เพิ่งเกิดปัญหาขึ้น ตั้งแต่การแห่เข้าไปสมัครถึงนาทีละหลายหมื่นคน จนระบบรับสมัครล่ม ต้องขยายเวลารับสมัคร
แม้ทปอ.จะบอกว่า ให้เด็กๆใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบแห่ไปสมัคร แต่ถ้านึกย้อนดูถ้าเป็นเรา หรือเป็นลูกเรา การสมัครสอบให้ได้เร็วที่สุดย่อมเป็นการปิดฉากความเครียดได้เร็วที่สุด และเป็นหลักประกันได้ว่า “เราจะได้สอบ” ไม่ต้องพูดถึงค่าสมัครสอบวิชาต่างๆที่จะสอบในรอบนี้ ไม่ต่ำกว่า 900 บาท
-เด็กเก่งสอบติดทุกอันดับ กั๊กที่เรียนเด็กคะแนนปานกลาง
สอบแล้ว ยังเจอปัญหาอีกว่า การให้สิทธิติดมากกว่า 1 ที่ ทำให้เด็กเก่งๆ ที่ตั้งใจสอบกลุ่มคณะแพทย์ สามารถเลือกได้ถึง 7 อันดับในรายละเอียด จากเด็กทั่วไปที่เลือกได้แค่ 4 และคะแนนของเด็กกลุ่มแพทย์ยังครอบคลุมทุกคณะที่เลือก ตัดสิทธิเด็กคะแนนปานกลาง หรือเด็กคะแนนรองลงมาอีก
เช่น เด็กที่จะสอบแพทย์ อันดับ 1 เลือกเป็น กสพท. ซึ่งเป็นกลุ่ม ในอันดับแรกนี้ เลือกสาขาย่อยได้อีก 4 อันดับ เช่น แพทย์ศิริราช แพทย์จุฬา ทันตแพทย์จุฬา สัตวแพทย์ จากนั้นยังเลือกได้อีก 3 สาขาในกลุ่มอื่นๆ เช่น อันดับที่ 2 เลือกวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. อันดับ 3 เลือกวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา อันดับ 4 เลือกวิศวกรรมศาสตร์
แถมหลักเกณฑ์คือ ถ้าคะแนนถึง ก็เท่ากับว่าติดทั้งหมดทุกอันดับ ทำให้เกิดปัญหากั๊กที่เรียน เด็กที่คะแนนสอบปานกลางหรือเด็กที่คะแนนรองลงมาอีก ก็สอบไม่ติดในคณะรอง ทั้งๆ ที่คะแนนที่เก็บมา อยู่ในระดับที่เด็กๆ เรียกกันว่า safe zone คือคะแนนที่เปรียบเทียบกับการสอบปีก่อนๆ แล้วสามารถเข้าเรียนในคณะนั้นๆ ได้อย่างสบาย
ถึงมีคำกล่าวว่า เด็กครึ่งนึงสอบไม่ติด ไม่มีที่เรียน
-ทปอ.ประกาศ เพิ่ม Clearing House รอบ 3/2
น้องเฟมยกตัวอย่างให้ฟังว่า สมมติคณะรังสีการแพทย์ รับได้ 15 คน แต่กลับเป็นเด็กที่สอบติดแพทย์ทั้งหมด 15 คน และทั้ง 15 คนเลือกเรียนแพทย์ ซึ่งจะทำให้คณะรังสีการแพทย์มีที่นั่งว่างทั้งหมดคือ 15 คน ตรงนี้หากทปอ.ยังไม่มีการแก้ปัญหาโดยเพิ่มรอบ การยืนยันสิทธิ หรือ Clearing House รอบ 3/2 เท่ากับว่าเด็กที่มีโอกาสสอบเข้าคณะนี้โดยคะแนน ต้องไปสอบกันอีกครั้งในเวทีใหม่ รอบ4 รอบแอดมิชชั่น ที่อาจจะสอบไม่ได้ เพราะเกณฑ์การสอบไม่เหมือนกันที่สำคัญคณะดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ อาจจะเต็ม และไม่มีการเปิดในรอบนี้แล้ว
โชคดีเส้นยาแดงผ่าแปด ขณะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความไม่เป็นธรรม สร้างความระส่ำระสายไปทั่ว ทปอ. ตัดสินใจประกาศแก้ปัญหาวันที่ 30 พ.ค.2561 ให้มี Clearing House รอบ 3/2 โดยให้เด็กยืนยันสิทธิ Clearing House รอบ 3/1 แล้ว ทปอ.จะรีบส่งที่นั่งที่เหลือกลับไปให้มหาวิทยาลัย และให้มหาวิทยาลัยคัดเลือกคนสำรอง หรือคะแนนถัดไป และประกาศผล เพื่อให้เด็กยืนยันสิทธิ Clearing House รอบ 3/2 ก่อนวันที่ 10 และ 11 มิถุนายน 2561 ที่จะเป็นวันที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเรียกเด็กมาสอบสัมภาษณ์
-กังวลใจ แอดมิชชั่น ใช้เกณฑ์คนละอย่าง
แต่ก็มีผู้ปกครองบางท่าน สะท้อนมาอีกว่า และจะรับประกันได้อย่างไรว่า Clearing House รอบ 3/2 จะไม่เกิดปัญหากั๊กที่อีกรอบ ในเมื่อเด็กที่สอบได้คะแนนดีๆ ก็จะได้สิทธิคัดเลือกได้หลายสาขาขึ้นมาอีก สุดท้ายก็ต้องไปวัดกันที่รอบ 4 รอบแอดมิชชั่น ที่เกณฑ์การสอบคนละอย่าง และรอบ 5 มหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครรับตรงอิสระในคณะที่ยังเหลือที่นั่งอยู่เป็นรอบเก็บตก ซึ่งใกล้เวลาที่มหาวิทยาลัยต่างๆจะเปิดเรียนเต็มที
ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชน ก็ชิงประกาศปิดรับสมัครไปก่อนหน้านี้ เด็กๆ ที่กลัวสอบไม่ได้ ก็ต้องไปสมัครเรียนไว้ก่อน และที่แน่ๆ คือต้องจ่ายตังค์เรือนหมื่น กั๊กที่ไว้ก่อน เพื่อรับประกันว่า “ฉันจะมีที่เรียน”
เครียดทุกทาง กดดันทุกอย่าง
-TCAS ปีหน้าระอุอีก
ลุ้นกันทุกขั้นตอน ลุ้นกันจนใกล้เปิดเทอม เด็กๆ ก็เครียด พ่อแม่เองนอกจากเครียดแล้วยังกระเป๋าฉีกกระจุย
TCAS ทำเด็กๆสะบักสะบอมแสนสาหัสจริงๆปีนี้ ตอนนี้หลายๆคนก็หวังแค่ว่า ให้เด็กๆมีที่เรียนกันให้ได้ก่อน แม้จะไม่ใช่คณะที่ใช่ คณะที่ชอบ
หลังจากจบการสอบ TCAS รอบนี้ ทปอ.ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา ปิดจุดอ่อนต่างๆให้ได้ ไม่เช่นนั้นปีหน้า การแข่งขันก็เข้าอีหรอบเดิม หรืออาจยิ่งดุเดือดขึ้นอีก!
ณฐา พงษ์ศาศวัต ทีมข่าว PPTV