ทำไมเมืองไทยต้องเปิดรับ"ขยะอิเล็กทรอนิกส์"

โดย PPTV Online

เผยแพร่

เหตุการณ์บุกโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้การบุกค้นโรงงานประเภทนี้และทำให้พบว่าหลายแห่งมีการกระทำผิดเงื่อนไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดซากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสร้างความกังวลให้กับสังคมในแง่ของ การกำจัดบำบัดในประเทศไทยว่ามีความพร้อมและปลอดภัยมากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือไทยกำลังกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะอุตสาหกรรมจากทั่วโลก

ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองไทย ตามการเปิดเผยของ นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ไทยมีปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์จากภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าในปี 2560 กว่า 6 หมื่นตัน แบ่งเป็นจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศจำนวนประมาณ 7,400 ตัน และนำเข้าประมาณ  53,000 ตัน

ซึ่งในเมืองไทยมีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตกำจัดและบำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 โรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตให้มีการนำเข้า 7 โรงงาน แต่มี 5 โรงงานที่เข้าข่ายลักลอบนำเข้าผิดเงื่อนไขใบอนุญาต และกำลังถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้  ซึ่งทั้ง 148 โรงงาน มีทั้งสถานประกอบการที่เป็นโรงงานกำจัด โรงงานคัดแยก และโรงงานสกัดโลหะมีค่านำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนใหญ่ 98%  จะเป็น โทรศัพท์มือถือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ โดยในปีที่ผ่านมาขยะที่นำเข้ามารีไซเคิลจะมาจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์

แล้วทำไมถึงต้องนำเข้ามาที่ประเทศไทย

คำตอบคือการอนุญาตนำเข้าของเสียอันตรายที่เป็นไปตามกฎหมายจะอยู่ในเงื่อนไขของอนุสัญญาบาเซล อย่างเช่น ปี 2561 มีโควต้านำเข้า 111,787 ตัน , นำเข้ามาแล้ว 37,800ตัน , ส่วนปี 2560 มีโควต้า 53,290 ตัน โดยมีขั้นตอนการขออนุญาตภายใต้อนุสัญญาบาเซล ตั้งแต่การพิจารณาคำขอคำยินยอมจากหน่วยงานรัฐจากประเทศต้นทาง จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความพร้อมในด้านสถานที่จัดเก็บ ปริมาณการนำเข้า  และกระบวนการผลิต ฯลฯ   และหากได้รับการยินยอมแล้ว จะพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นส่วนที่นำเข้าอย่างถูกต้อง เพราะภายในชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นของมีค่าและหากโรงงานที่ขอนำเข้าทำตามกฎหมายแต่จะต้องนำกากของเสียที่เหลือสุดท้าย ไปกำจัดอย่างถูกต้องในโรงงานกำจัดของเสียอันตราย ประเภท 101 เท่านั้น แต่ที่พบทำผิดกฎหมาย คือ การมีของเสียอันตราย โดยไม่ผ่านการอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

แล้วใน “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” มีอะไรจึงถือว่าเป็นของมีค่า

การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ สามารถแยกองค์ประกอบตามประเภทของวัสดุได้ 3 ส่วน คือ วัสดุโลหะ (เหล็ก อลูมิเนียม และโลหะอื่นๆ) 58% วัสดุประเภทพลาสติก 40% ซึ่งจะถูกอัดเป็นก้อนเพื่อพร้อมส่งจำหน่ายต่อไปยังโรงงานที่มีศักยภาพ เช่น โรงหลอมโลหะ หรือ โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก และอีก 2% เป็นวัสดุชิ้นส่วนและแผงวงจรไฟฟ้า (PCBA) ทั้งชนิด High grade จากทั้งอุปกรณ์ไอทีขนาดเล็ก โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก และ Low grade คือ แผงวงจรอุปกรณ์อื่นๆ พวก Power supply ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อนหรือเครื่องซักผ้า หลังแยกเกรดแล้วจะส่งเข้าสู่กระบวนการบดย่อยเพื่อลดขนาดและเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการหลอมและสกัดโลหะมีค่า ซึ่งมีทั้ง ทองคำ ทองแดง เพื่อนำสู่กระบวนการผลิตเดิมในโรงงาน  ซึ่งการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิล มูลค่าของตลาดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของไทย ตามการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2560 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 4,920 – 5,000 ล้านบาท

ประเด็นสำคัญขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้หากมีการจัดการไม่ดีย่อมเกิดอันตรายกับร่างกายและสิ่งแวดล้อมแน่นอน

ผศ.อัจฉรา อัศวรุจิกุลชัย นักวิชาการด้านการกำจัดของเสียมีพิษ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเปิดเผยกับ พีพีทีวี ว่า ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้น มีสารอันตรายมากกว่า 15 ชนิด อาทิ เหล็ก ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม และนิกเกิล ซึ่งส่งผลต่อไตโดยเฉพาะตะกั่ว ที่ส่งผลต่อระบบประสาท และพัฒนาการเด็ก ปรอท ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว และสารแคดเมียม ที่ส่งผลต่อกระดูก  และหากสารพิษตกค้างในดินพืชที่ปลูกจะปนเปื้อนสารพิษ

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องมีการตรวจสอบกันอย่างต่อเนื่องจริงจังตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้า ขอใบอนุญาต และการตรวจสอบระบบการกำจัด ก่อนที่เมืองไทยจะกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก

 

 

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ