วันนี้ (19 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหว สวมเสื้อสีดำ ถือป้ายข้อความแสดงเชิงสัญลักษณ์ หน้าเรือนจำกลางบางขวาง ยืนยันไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต ต่อกรณีที่กรมราชทัณฑ์ มีโทษประหารผู้ต้องขังอายุ 26 ปี เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.61) นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมนาสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย กล่าวถึงการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ว่าไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตที่เกิดขึ้น และมองว่ารัฐควรหามาตราการลงโทษที่ไม่ใช่การประหารชีวิต ส่วนข้อซักถามประเด็น ว่าเป็นการเข้าข้างผู้กระทำผิดโทษร้ายแรงหรือไม่ นางปิยนุช ชี้แจงว่าแอมนาสตี้ ไม่ได้เข้าข้างผู้กระทำความผิด และยืนยันว่าผู้ทำผิดต้องได้รับการลงโทษ แต่ต้องเป็นการลงโทษที่ชอบธรรม เช่น การผู้กระทำความผิดต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความเป็นธรรมในการสืบหาพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี และให้เข้าถึงคดีอย่างที่สุด เป็นต้น เมื่อถามต่อว่า หากผู้กระทำความผิดได้ต่อสู้คดีตามความชอบธรรมอย่างที่ระบุแล้ว แต่ยังถูกตัดสินให้ประหารชีวิต จะสามารถเป็นไปในทิศทางใดได้ นางปิยนุช ระบุว่า การลงโทษมีหลายรูปแบบ และต้องถามกลับว่ารัฐ กับผู้บังคับใช้กฎหมายจะมีการลงโทษ หรือการเยียวยาอย่างไร โดยทางแอมนาสตี้ ไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต เพราะเชื่อว่าการประหารชีวิตไม่ได้ทำให้อาชญากรรมลดลง
ทั้งนี้ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การบังคับโทษประหารชีวิต มีความเกี่ยวข้องกับความพยายามไม่ให้ไทย ถูกประกาศเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ ตามมติองค์การสหประชาชาติหรือไม่ มองว่า เป็นการทำให้บทบาทของไทยบนเวทีโลกเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนลดลง และถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ที่จะไม่มีโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ รวมถึงจะถูกตั้งคำถามบนเวทีโลกทั้งเรื่องโทษประหารชีวิต รวมถึงการซ้อมทรมาน เป็นต้น
ขณะที่ประเด็นที่เกิดขึ้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มองว่า โทษประหารไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ส่วนที่องค์กรแอมเนสตี้ออกมาแถลงการณ์และเคลื่อนไหวคัดค้าน นายวิษณุ ระบุว่าเป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่ต้องสร้างความเข้าใจ เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า กฎหมายและโทษประหารมีมานานแล้ว ยืนยันว่าทุกอย่างทำตามกฎหมาย และความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่าควรให้มีโทษดังกล่าวอยู่
ขณะที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 จนถึงปัจจุบัน มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว 325 ราย แบ่งออกเป็น ใช้อาวุธปืนยิงไปแล้ว 319 ราย รายแรก คือ นักโทษชาย (สิบเอก) สวัสดิ์ มะหะหมัด คดีประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล (กบฎนายสิบ) ลงโทษด้วยการยิงด้วยอาวุธปืนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2478 เวลาเที่ยงคืน ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ รายสุดท้ายที่ถูกยิงเป้า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2546 คือ นักโทษชายสุดใจ ชนะ ผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ส่วนการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยา หรือสารพิษให้ตาย เริ่มครั้งแรกเมืวันที่ 12 ธ.ค. 2546 จนถึงเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552 รวม 6 ราย และในเดือนสิงหาคมปีนี้จะครบ 9 ปี ของโทษประหารที่มีล่าสุด ก็มีโทษประหารชีวิตเกิดขึ้นเมื่อวานนี้
สำหรับประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต สำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนบรูไน ลาว และเมียนมา ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ซึ่งหมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวและญาติ ของนายธีรศักดิ์ นักโทษประหาร ช่วยกันจัดเตรียมสถานที่บริเวณบ้านเลขที่ 175 บ้านทุ่งหวัง ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามในค่ำคืนนี้ คาดว่าศพของนายธีรศักดิ์ จะเดินทางถึงบ้านเกิดคืนวันนี้ เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาด้วยการฝัง น้องสาวของนายธีรศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกรับไม่ได้กับการตัดสินประหารชีวิตครั้งนี้ เพราะตลอด 9 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้ต้องโทษคนใดถูกตัดสินประหารชีวิตมาก่อน แต่พี่ชายตนกลับเป็นคนแรก จึงรู้สึกรับไม่ได้ ตอนนี้แม่และญาติบางส่วนได้เดินทางไปรับศพกลับบ้าน เพื่อประกอบพิธีฝัง ตามศาสนา
นอกจากนี้ ทางครอบครัวยัง ระบุว่า ไม่คิดว่า นายธีรศักดิ์จะได้รับโทษประหารชีวิตเร็วแบบนี้ เพราะเพิ่งย้ายจากเรือนจำเขาบิน ราชบุรี แล้วย้ายไปที่เรือนจำบางขวาง เพียงไม่กี่วัน อีกทั้งการประหารชีวิตทางครอบครัวก็ไม่ทราบมาก่อน