พลิกปูม “โทษประหาร” สู่ “วิวาทะ” ร้อนในสังคมไทย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

โทษประหารชีวิต กลับมาเป็นเรื่องถกเถียงในสังคมไทยอีกครั้ง ทันทีที่กรมราชทัณฑ์ประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษให้กับนักโทษเด็ดขาดคดีฆ่าชิงทรัพย์ซึ่งนับเป็นคนแรกในรอบ 9 ปี

การประหารชีวิตในสังคมไทยอาจแบ่งเป็น 3 ยุคสมัย สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  วิธีการประหารชีวิตยังคงรูปแบบจารีตโบราณที่มีความทารุณโหดร้าย จำนวน 21 สถาน หรือการตัดศีรษะ หากทำผิดฐานกบฏ การลงโทษจะทารุณขึ้น ส่วนการประหารพระราชวงศ์จะสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

         

วิธีการประหารแบบโบราณเลิกใช้หลังประกาศกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นด้านหนึ่งของการปฏิรูปเพื่อหลีกเลี่ยงการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก

กฎหมายกำหนดให้ประหารชีวิตบุคคลทุกชนชั้นด้วยการตัดศีรษะ เมื่อประหารแล้วให้สับร่างกายหรือแล่เนื้อให้แร้งกาแล้วเอาหัวเสียบประจาน

ในปีพุทธศักราช 2477 ไทยแก้ไขประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ว่าด้วยการประหารชีวิต จาก “ให้เอาไปตัดศีรษะเสีย” เป็น “ให้เอาไปยิงเสียให้ตาย” หรือที่เรียกว่า “ยิงเป้า”

ตลอดระยะเวลา 68 ปีที่ไทยใช้โทษประหารชีวิตด้วยวิธีการนี้มีนักโทษถูกยิงเป้าทั้งหมด 319 คน  ส่วนใหญ่เป็นคดีฆ่าคนโดยเจตนา

ไทยเปลี่ยนวิธีประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดจากยิงเป้ามาเป็นฉีดยาหรือสารพิษให้ตายหลังแก้กฎหมายเมื่อปีพุทธศักราช 2545 และบังคับใช้โทษประหารชีวิตด้วยวิธีการนี้ในปีถัดมา จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 15 ปี มีนักโทษถูกฉีดยาให้ตายทั้งหมด 7 คน ล่าสุดคือนักโทษเด็ดขาดคดีฆ่าชิงทรัพย์โดยใช้มีดแทงวัยรุ่นในจังหวัดตรัง 24 แผลจนเสียชีวิต

นับแต่อดีตถึงปัจจุบันโทษประหารชีวิตของไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้แค้นในสิ่งที่ผู้กระทำผิดก่อไว้ และข่มขู่ให้กลัวเพื่อจะได้ไม่กล้าทำผิด ซึ่งไม่ต่างจากหลาย ๆ ประเทศที่มีโทษประหาร แต่ด้วยอิทธิพล แนวคิด และข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกระแสไปทั่วโลกจึงส่งผลต่อความคิดเห็นของผู้คนจนกลายเป็นวิวาทะทุกครั้งไป

ฝ่ายที่สนับสนุนโทษประหารเห็นว่าจำเป็นต้องมีเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดให้สมกับความผิดที่ก่อไว้ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านมองว่า โทษประหารขัดกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน และไม่ได้ช่วยลดอาชญากรรม

การกลับมาบังคับโทษประหารชีวิตในรอบ 9 ปีครั้งนี้ นอกจากแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจะยังใช้โทษประหารชีวิตต่อไปแล้ว ข้อถกเถียงจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านการใช้โทษประหารยังช่วยสะท้อนวุฒิภาวะของผู้คนสังคมได้เป็นอย่างดี

Bottom-BDMS Bottom-BDMS

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ