รู้จัก “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” ถ้ำที่ยาวเป็นอันดับ 4 ของไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีที่ทีมฟุตบอลเยาวชนและโค้ชจำนวน 13 คน สูญหายไปในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้พบเบาะแสเป็นกระเป๋าเด็กถูกวางทิ้งไว้ ทำให้เชื่อกันว่าผู้สูญหายตอนนี้น่าจะอยู่บริเวณโถงใหญ่ในถ้ำ แต่ ด้วยอุสรรคทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่มักขึ้นสูงจนอาจปิดทางเข้าออก อากาศภายในถ้ำที่เบาบาง และทางเดินที่มืด แคบ และเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย ทำให้การค้นหาเป็นไปอย่างอยากลำบาก 

วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน นักธรณีวิทยาได้จัดลำดับให้ถ้ำหลวงเป็นถ้ำที่ยาวเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย ด้วยความยาวทั้งหมด 10,316 เมตร ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หน่วยงานที่ดูแลหลักคือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย  มีส่วนที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว 2 ส่วน คือ ส่วนของวนอุทยานถ้ำหลวง และ ส่วนของขุนน้ำนางนอน บนเนื้อที่ราว 5,000 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 453 เมตร

ซึ่งกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ลักษณะเป็นภูเขาขนาดใหญ่หลายลูกเรียงติดต่อกันแบบสลับซับซ้อน สูงโดยเฉลี่ยประมาณ 779 เมตร โดยลาดชันมาทางทิศตะวันออก

“วนอุทยานถ้ำหลวง” มีลักษณะเป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ภายในถ้ำมีน้ำซับตลอดทั้งปี และจะมีน้ำไหลในช่วงฤดูฝน มีหินงอกหินย้อยสวยงาม และมีค้างคาวอาศัยอยู่ด้วย ปากถ้ำเป็นห้องโถงกว้าง ในถ้ำจะพบกับความงามของ เกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำและถ้ำลอด ถ้ำหลวงเป็นหนึ่งในถ้ำที่ยังคงมีการสำรวจจากนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา เพราะการสำรวจมักไปได้ไม่ถึงที่หมายก็ต้องล่าถอยออกมาด้วยมีอุปสรรคมากมายภายในถ้ำ นอกจากนี้ยังมีถ้ำเล็ก ๆ อีก 3 แห่งในบริเวณเดียวกัน

ลักษณะของถ้ำหลวง

มีปากถ้ำสูง โถงถ้ำแรกเปิดกว้างและมีระดับพื้นดินต่ำกว่าปากถ้ำมาก เนื่องจากเป็นร่องทางน้ำที่ไหลออกจากถ้ำ โดยมีร่องน้ำผ่านระหว่างโถงที่ 1 และทางขวามือของร่องน้ำจะเป็นโนนดินที่สูงขึ้น มีร่องรอยหลุมยุบ

โถงที่ 2 ต่อจากโถงที่ 1 จะมีร่องรอยหินถล่มด้านซ้ายมือ เมื่อสิ้นสุดบันไดจากบริเวณปากถ้ำจะเป็นทางเดินดินสั้น ๆ แล้วจึงเป็นขั้นบันไดที่เทด้วยปูนซีเมนต์จำนวน 5-6 ขั้น ยกระดับขึ้นทอดเข้าสู่ความยาวของตัวถ้ำ โดยที่ในช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมภายในถ้ำ

สภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำหลวง

เป็นถ้ำกึ่งแห้ง เนื่องจากบางส่วนยังมีการเกิดของหินงอก และหินย้อยอยู่ และบางส่วนแห้งแล้ว หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูนสีเทาอ่อน (Limestone) หินอ่อน (Marble) หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 270-320 ล้านปี ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 433 เมตร แนวโถงถ้ำมีโถงหลักเพียงโถงเดียว แต่เส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเดินเข้าถึงได้ง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ จนถึงเส้นทางเดินลำบาก มีความยาวรวม 759.76 เมตร ซึ่งการสำรวจของนักสำรวจสิ้นสุดที่ห้องลับแล เนื่องจากทางที่จะไปโถงอื่น ๆ นั้นลำบากมาก

“ถ้ำหลวงจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมพื้นที่ถ้ำตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นฤดูฝน เนื่องจากน้ำจะไหลเข้ามาท่วมภายในถ้ำซึ่งจะไม่ปลอดภัย

ซึ่งการจะไปท่องเที่ยวนั้นนักท่องเที่ยวต้องยืมหรือเช่าไฟฉายจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แต่ถ้ำหลวงอาจไม่ใช่ลักษณะถ้ำที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวไทยเพราะมีความเหมาะสมในเชิงการศึกษาวิจัย ดังนั้น ป้ายแสดงเส้นทางหรือบอกรายละเอียดภายในถ้ำจึงมีบ้างแต่ค่อนข้างชำรุด

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา  โดย "ชมรมฮักตั๋วเมือง" บอกว่า เจ้าหญิงองค์หนึ่งแห่งเมืองเชียงรุ้ง แอบชอบพอกับชายหนุ่มคนดูแลม้า จนกระทั่งตั้งครรภ์ กลัวว่าพ่อจะลงโทษ จึงพากันหนีมาถึงแคว้นไชยนารายณ์ หนุ่มสาวทั้งสองอ่อนเพลียเป็นอันมาก ชายหนุ่มจึงบอกให้เจ้าหญิงนอนพัก ส่วนชายหนุ่มออกไปหาอาหารมาให้ แต่ก็ถูกทหารที่ติดตามมาฆ่าตาย เจ้าหญิงรอคอยเป็นเวลาหลายวัน เมื่อสามีไม่ได้ย้อนกลับมา จึงตัดสินใจบูชารักโดยเอาปิ่นปักผมแทงศีรษะละสังขารตำแหน่งที่นางทอดกายนอนหงายตายคือดอยนางนอน เลือดที่ไหลรินออกมาเป็นสาย กลายเป็นแม่น้ำสาย

ส่วนอีกตำนาน เล่าว่า เจ้าหญิงเมืองพุกาม ออกตามหาเจ้าชายที่นางรัก นางออกรบ มีผู้คนล้มตายมากมาย และขยายอาณาเขตมาเรื่อยๆ จนมาถึงเวียงสี่ทวงจึงพบกับเจ้าชาย แต่ปรากฏว่าเจ้าชายหนีหายไปกับสาวสวยชาวเวียงนี้อีกครั้งนางรู้สึกเศร้าสลดจนตรอมใจตาย

ก่อนตายได้ตั้งจิตอธิษฐานให้ร่างของนางกลายเป็นเทือกเขา ที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า "ดอยนางนอน" น้ำตาที่ไหลรินกลายเป็น "ขุนน้ำนางนอน" ส่วนไพร่พลของนางก็กลายมาเป็นชนเผ่าหลากชาติพันธุ์บนภูเขาแห่งนี้ 

แล้ว “นักท่องเที่ยวทั่วไป” จะเที่ยวถ้ำต้องเตรียมตัวอย่างไร

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แนะนำว่าควรสวมสื้อผ้าที่รัดกุม สวมรองเท้าหุ้มส้นเพื่อให้เดินได้มั่นคงบนพื้นถ้ำ สวมหมวกสำหรับกันหยดน้ำ มูลค้างคาว และป้องกันศรีษะชนกับโขดหิน

ส่วนอุปกรณ์ในการเที่ยวถ้ำที่สำคัญที่สุด คือ ไฟฉายหรือตะเกียงเจ้าพายุ แต่ “ห้ามใช้คบไฟ เทียนไข หรือตะเกียงที่มีเปลวไฟ เพราะแสงสว่างจากสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดควันหรือเขม่าไฟลอยไปจับตามผนังถ้ำ หรือหินงอก หินย้อย”

ส่วนช่วงที่เป็นฤดูของการเที่ยวถ้ำ ถ้าเป็นประเภทที่มีน้ำไหลลอดหรือที่เรียกกันว่า ถ้ำธารลอด จะเข้าไปเที่ยวชมได้เฉพาะช่วงฤดูแล้งเท่านั้น สำหรับถ้ำลอดทางทะเล เช่น ถ้ำลอดพังงา ถ้ำลอดปูยู ฯลฯ ทางเข้าถ้ำเหล่านี้อยู่ติด กับทะเล ยามน้ำทะเลขึ้นสูง น้ำจะท่วมปากถ้ำ ต้องรอในช่วงน้ำลงหรือช่วงเวลาขึ้น-ลงของน้ำทะเลในแต่ละวันประกอบด้วย แต่สำหรับถ้ำทั่วๆไปสามารถเที่ยวได้ทุกฤดู

ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /  Caves & Caving in Thailand /กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช / "ชมรมฮักตั๋วเมือง"

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ