เมื่อวันที่ (1 ก.ค. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่วิธีช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในพื้นที่อับอากาศ ซึ่งพื้นที่อับอากาศ คือ ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัด และมีการระบายอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศภายในอยู่ในสภาพถูกสุขลักษณะและปลอดภัย เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ สิ่งพิเศษที่ควรทำในการช่วยเหลือ มีดังนี้
1.หาข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด จากญาติหรือผู้เห็นเหตุการณ์ เพื่อทีมแพทย์ประเมินวิธีการนำผู้ประสบภัยหรือป่วยเจ็บออกจากถ้ำให้เหมาะสมที่สุด
2.บุคลากรทางการแพทย์ควรคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งต่อผู้ทำหน้าที่ค้นหา และผู้ประสบภัย และป้องกันการเกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จากการเผาไหม้ของเครื่องมือช่วยเหลือ
3.เตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือช่วยเหลือ เพื่อประหยัดเวลาในการเข้าช่วยเหลือ พร้อมเตรียมวิธีการขนส่งอุปกรณ์
4.เมื่อพบผู้ประสบภัยแล้วรีบทำการประเมินเบื้องต้นระบบไหลเวียนโลหิต และระบบประสาท
5.เจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือควรสวมอุปกรณ์ป้องกันทั้งของตัวเองและผู้ประสบภัย ตามหลักวิชาการ
6.ก่อนเคลื่อนย้ายควรบอกผู้ประสบภัยที่ป่วยเจ็บว่าทีมแพทย์จะทำสิ่งใด ให้ร่วมมืออย่างไร
7.ประเมินผู้ประสบภัยเป็นระยะ เมื่อมีการเคลื่อนย้ายผ่าน โดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ อาจมีการหลุดเลื่อนของอุปกรณ์
8.ทีมแพทย์ควรมีการลงบันทึกเวลาให้ชัดเจน ตั้งแต่การออกปฏิบัติการ การเข้าสู่บริเวณถ้ำ เนื่องจากการรักษา ขึ้นอยู่กับเวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
ส่วนการบาดเจ็บที่มักพบกับผู้บาดเจ็บในพื้นที่อับอากาศ
1.ภาวะพร่องสารน้ำ เป็นภาวะที่พบบ่อยจากการติดภายในถ้ำ การให้สารน้ำแต่แรกๆ จะได้ประโยชน์มาก
2.กล้าเนื้อถูกทำลาย เนื่องจากถูกกดทับเป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง
3.บาดเจ็บจากการตกที่สูง
4.ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต
5.ภาวะการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราในถ้ำ ทั้งนี้ทีมแพทย์ควรระวังป้องกันสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองก่อนเสมอ
ทั้งนี้สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสื่อสารพูดคุยกับผู้ประสบภัย หรือบาดเจ็บ อาจกระตุ้นให้ขยับกล้ามเนื้อข้างที่ขยับได้ เพื่อให้มีการไหลเวียนเลือดดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเอง มีส่วนร่วมในการรักษาเท่าที่สามารถทำได้