ฮีโร่เกือบ 3,000 คนระดมค้นหาทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่า 13 ชีวิต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปฏิบัติการค้นหานักฟุตบอลและโค้ช ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ เชียงราย ที่สูญหายจากการเข้าไปเที่ยวในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.61 ความคืบหน้าล่าสุดพบทั้ง 13 คนแล้วซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งคือทั้งหมดปลอดภัย ซึ่งต้องยอมรับว่าภารกิจกว่า 10 วันครั้งนี้ได้เห็นการรวมพลังของหน่วยงานต่างๆและน้ำใจคนไทยหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายจนภารกิจที่ประสบความสำเร็จซึ่งใช้กำลังพลเกือบ 3,000 คน

ซึ่งรายงานนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นิวมีเดีย พีพีทีวี รวบรวมมาได้ช่วงวันที่ 30 มิ.ย.2561 แต่เราเชื่อว่ายังมีผู้ปิดทองหลังพระอีกจำนวนมากที่เป็นกำลังใจสำคัญทำให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

คนแรกที่เป็นเหมือนแม่ทัพใหญ่ทั้งคอยจัดการ ประสานงาน ทำความเข้าใจ ใช้ความรู้ความสามารถทุกอย่างบริหารการทำงานทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจนและเด็ดขาด คือ “นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรา หัวหน้างานการบริหารจัดการปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิต ทีมหมูป่า พ่อเมืองเชียงรายบุคลิก จริงจัง ตรงไปตรงมาและเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมากกับภารกิจนี้ด้วยการการันตีจาก วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา)มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / ระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมสํารวจและสารสนเทศภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์ ยังจบนิติศาสตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรกฎหมายการที่ดินและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เทคโนโลยีบัณฑิต (เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อีกด้วย และด้วยการทำงานที่เถรตรง หลายๆ โครงการที่ นายณรงค์ศักดิ์ ไม่อนุมัติให้ผ่านหลังหน่วยงานราชการของบประมาณขึ้นไปกว่า 20 โครงการ ตลอด 1 ปีที่นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯเชียงราย เช่น ไม่ยอมลงนามในจำนวนกว่า 20 โครงการ เช่น โครงการสร้าง ‘ตุง’ สัญลักษณ์กลางเมืองเชียงราย ใช้งบ 50 ล้านบาท เพราะมองว่างบก้อนนี้นำไปพัฒนาด้านอื่นๆ ได้ดีกว่ารวมถึงการตรวจสอบย้อนหลังโครงการก่อนหน้าด้วย

ต่อมาคือผู้ที่เป็นเหมือนความหวังในการค้นหาที่ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจซึ่งจนถึงขณะนี้แม้พบตัวน้องทั้ง 13 คนแล้วยังต้องอาศัยการตัดสินใจในการพาน้องๆ ออกมาจาก “หน่วยซีล เป็นหน่วยแรกที่ลงปฏิบัติภารกิจค้นหาเด็กๆ ทีมหมูป่าทั้ง 13 คน และยังคงทำหน้าที่อย่างเต็มที่และเข้มข้นจากการปราศจุดยืนของ พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (ผบ.หน่วยซีล)ครั้งยังไม่พบน้องๆ ว่า “ไม่พบ เราไม่เลิก” โดยส่วนใหญ่จะเน้นที่ภารกิจดำน้ำเป็นหลักซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปตั้งศูนย์บัญชาการกลางอยู่ที่โถง 3 ของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อเร่งเดินหน้าภารกิจแข่งขันกับเวลาทุกวินาที สำหรับหน่วยซีลของไทย เกิดขึ้นในปี 2495 เมื่อกระทรวงกลาโหมของไทย ได้มีความคิดที่จะจัดตั้งหน่วยทำลายใต้น้ำขึ้นมา และได้เชิญผู้แทนเหล่าทัพกับกรมตำรวจไปประชุม เรื่อง การจัดตั้งหน่วยฝึกว่ายน้ำ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐฯ จึงมีมติจัดตั้งหน่วยฝึกขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยฝึกที่โหดที่สุดของเมืองไทย

(ย้อนดูที่มา“Thai NavySEAL”รบพิเศษกองทัพเรือไทย //www.pptvhd36.com//83915 )

ต่อมาเป็นทีมดำน้ำในถ้ำและสำรวจเขาซึ่งหลังจากข่าวนี้เริ่มกระจายออกไปทำให้หลายประเทศต่างส่งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง คนแรกที่หลายคนได้เห็นตั้งแต่วันแรกๆของปฏิบัติการค้นหา คือ เวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจชาวอังกฤษ ซึ่งเขาเคยสำรวจถ้ำหลวงมาก่อนและชำนาญเส้นทาง รวมถึงมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการดำน้ำ ต่อมาเป็นทีมกู้ภัยจากเดอร์บีเชอร์ เคฟ เรสคิว ชมรมนักประดาน้ำอาสาระดับโลกส่งผู้เชี่ยวชาญ 3 คน มาพร้อมอุปกรณ์วิทยุแรงส่งสูง 4 เครื่อง สามารถส่งสัญญาณจากถ้ำลึก และอุปกรณ์ดำน้ำ  จนในที่สุด 2 คนในทีมคือ นาย ริชาร์ด หรือ ริค สแตนตัน เจ้าหน้าที่ดับเพลิง และถือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำในถ้ำที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของยุโรป และ จอห์น โวลันเธน วิศกรคอมพิวเตอร์ ก็เป็น 2 คนแรกที่พบเด็กๆทีมหมูป่าทั้ง 13 คน  รวมถึงทีมกู้ภัยจากสหรัฐฯ พร้อมอุปกรณ์ค้นหาสัญญาณชีพของกองทัพเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (USPACOM) ขณะที่เพื่อนบ้านของเราอย่าง สปป.ลาว ก็ส่งทีมกู้ภัยมาร่วมสำรวจดอยผาหมี นอกจากนี้ ยังมีทีมกู้ภัยจากเยอรมนี ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ และเมียนมาร์ มาร่วมด้วย

เมื่อการปฏิบัติภารกิจต้องใช้กำลังไฟฟ้าโดยเฉพาะการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในถ้ำแน่นอนว่า 2 หน่วยงานการไฟฟ้าหลักของไทย คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สนับสนุนอย่างเต็มที่ โดย กฟผ.แบ่งการค้นหา 2 ส่วน คือ การส่งทีมวิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านการเจาะระเบิด ระบบสูบน้ำและระบบไฟฟ้าไปร่วมประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ รวมถึงหาแนวทางและวิธีการทำงานที่เหมาะสมในกรณีที่ต้องมีการเจาะโพรงถ้ำร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดส่งอุปกรณ์ปฏิบัติการที่จำเป็นไปสมทบ ประกอบด้วย เช่น สายไฟชนิดกันน้ำ เชือก เครื่องปั่นไฟ ปลั๊กพ่วงโดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ กฟภ. จัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญพร้อมสายไฟฟ้าชนิดกันน้ำประมาณ 4,000 เมตร โดยร่วมกันวางแผนด้านระบบไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อกับระบบสูบน้ำ

แต่ในเมื่อสถานการณ์น้ำในถ้ำในช่วงวันแรกๆ และจนถึงขณะนี้ (3 ก.ค.61)  ยังมีปริมาณที่สูงการระบายน้ำจึงยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องส่วนหนึ่งก็เพื่อให้สามารถนำน้องๆ ทั้ง 13 คน ออกมาได้ในเวลาที่เหมาะสม ก็ได้เห็นน้ำใจของคนไทยที่นำนวัตกรรมที่คนไทยคิดขึ้นเองมาช่วยนั้นคือเครื่องสูบน้ำฝีมือคนไทย “ท่อซิ่งหรือเครื่องสูบน้ำพญานาค” ที่ดัดแปลงมาจาก “เครื่องรถหัวลากใช้กับท่อดูดน้ำขนาดใหญ่ ” สามารถสูบน้ำได้มากกว่าเครื่องสูบน้ำปกติประมาณ 10 เท่า สามารถใช้งานได้ 24 ชั่วโมง จาก 3 ทีม คือ ทีมงานพี่เอกท่อซิ่ง,ท่อสูบน้ำดอนยายหอม,ทีมงานป๊อปบ้านแพ้ว จำนวน 4 เครื่อง ทำให้สามารถพร่องน้ำในถ้ำไปได้มากไปได้มาก

ด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือก็ได้เตรียมพร้อมทีมงานจำนวน 13 คน นำหุ่นยนต์ดำน้ำบังคับระยะไกล (ROV) จำนวน 1 เครื่อง และโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อนสำหรับบินสำรวจ อีก 2 ลำ พร้อมด้วยอุปกรณ์ในการช่วยค้นหา ลำเลียงขึ้นเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือ C-130 ของกองทัพอากาศ เพื่อร่วมภารกิจค้นหาตั้งแต่วันแรกรวมถึง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่สนับสนุนโดรนกว่า 10 ตัว ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติการค้นหาทางอากาศ เช่น การบินสำรวจปลายถ้ำ

ต่อมาเป็น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ที่เข้าช่วยเหลือในเรื่องของการหาพิกัดทางภูมิศาสตร์ เพื่อสำรวจหาปล่อง ที่จะโรยตัวเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างในถ้ำ และพิกัดที่อยู่ใกล้ผนังถ้ำที่สุดในการเจาะทะลวงแนวราบ ขณะที่ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือ ปตท.สผ. ได้ส่งทีมงานพร้อมโดรนและหุ่นยนต์ที่สามารถระบุสภาพใต้ดินว่า มีโพรงเชื่อมต่อกับถ้ำได้หรือไม่ และสามารถตรวจจับความร้อนใต้พื้นดินได้ ซึ่งอาจนำภาพจากโดรนมาทำเป็นภาพกราฟฟิคเพื่อหาทางเข้าถ้ำตรงจุดที่เด็กๆและโค้ชอยู่ รวมถึง ท่อสูบน้ำขนาดความยาวหลายร้อยเมตร เพื่อช่วยสูบน้ำอีกแรงโดยการทำงานของท่อนี้จะใช้การทำงานแบบ “กาลักน้ำ” และให้การสนับสนุนน้ำมันดีเซลให้แก่คณะทำงานในพื้นที่คิดจนกว่าภารกิจจะสำเร็จ

นอกจากนี้ การสำรวจโพรงเพื่อหาปล่องทางเข้าบนดอยผาหมียังคงต้องทำควบคู่ไปกับการดำน้ำภายในถ้ำ โดยมี กองร้อย ตชด.กู้ชีพ ทหารพลร่ม ค่ายนเรศวร ซึ่ งพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาต นำทีม ลุยสำรวจด้วยตัวเอง ที่สำคัญยังได้รับน้ำใจจากพี่น้องชาวใต้ กลุ่มจิตอาสาจากเกาะลิบง จ.ตรัง ในนาม “กลุ่มคนรับจ้างเก็บรังนกนางแอ่น” ที่เดินทางขึ้นมาถึงเหนือสุดแดนสยามเพื่อใช้ประสบการณ์ความรู้ในถ้ำมาช่วยปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย

และนับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการระดมน้ำใจจาก “ทีมกู้ภัยทั่วประเทศเพื่อมาช่วยกันค้นหาน้องๆ ทั้ง 13 คน ซึ่ง นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปภ.ได้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องมือด้านสาธารณภัย สนับสนุนปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะแบ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการของ ปภ. แยกเป็น 2 ส่วน คือ
1.ชุดปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย ซึ่งมีความชำนาญในการค้นหาและกู้ภัยในที่สูง
2.ชุดปฏิบัติการด้านอุปกรณ์ ซึ่งสนับสนุนภารกิจด้านไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยอื่นๆ ขณะนี้ยังคงทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะค้นหาและช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าได้สำเร็จ

ที่ขาดไม่ได้คือหน่วยแพทย์และรถพยาบาลได้เตรียมความพร้อมอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมซักซ้อมระบบลำเลียงผู้ป่วยโดยจะใช้รถพยาบาลทั้งหมด 13 คัน ตามจำนวนผู้สูญหายและจะมีแพทย์ประจำอยู่ในรถพยาบาลทั้ง 13 คัน โดยจะส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลแม่สายเป็นหลัก หากผู้ป่วยคนไหนอาการวิกฤตจะมีการนำเฮลิคอปเตอร์นำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถในการรักษา ขณะที่บริเวณหน้าถ้ำได้เตรียมโรงพยาบาลสนามของกรมแพทย์ทหารบกแพทย์พร้อมอุปกรณ์และห้องปลอดเชื้อไว้อย่างครบครันพร้อมให้การช่วยเหลือทันที

อย่างไรก็ตามยังมีในส่วนของการเดินทางที่ 3 สายการบิน ทั้งบางกอกแอร์เวย์ แอร์เอเชีย และสายการบินไทยช่วยเหลือการเดินทางของทีมกู้ภัย โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ได้นำ 3 นักดำน้ำจากอังกฤษเดินทางต่อเครื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิมาถึงสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) เพื่อไปปฏิบัติการร่วมค้นหาทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่  รวมทั้ง 5 ค่ายมือถือผนึกกำลังสนับสนุนสัญญาณการสื่อสารทั้ง “เอไอเอส ดีแทค ทรู ทีโอที แคท”

ยังคงมีหน่วยงานอีกจำนวนมากรวมแล้ว ทั้งหมด 2,870 คนและอาสาสมัครอีกจำนวนมากที่จะคงช่วยกันเดินหน้าภารกิจนี้ต่อแม้ว่าจะพบน้องๆ ทั้ง 13 คนแล้วก็ตามเพราะต่อไปจะเป็นการเตรียมการพาน้องกลับออกมาเพื่อเจอครอบครัวที่รอคอยอยู่ซึ่งจะยังคงเดินหน้าสูบน้ำ หาโพรง ส่งทีมแพทย์ดูแลร่างกายทั้ง 13 คนให้พร้อมและแข็งแรงเมื่อถือเวลาที่เหมาะสมก็จะพาน้องกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ