นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่จะปลดล็อกให้สามารถนำกัญชามาวิจัยทางการแพทย์ในมนุษย์ได้ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีเวลาให้คณะกรรมาธิการพิจารณา 90 วัน คาดว่า จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ ต.ค.นี้ และมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน คือช่วง เม.ย. 2562 ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมอบหมายคณะทำงานทั้ง 4 คณะเร่งเดินหน้าดำเนินงานให้สามารถทำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ให้ได้ภายในวันที่ 1 พ.ค. 2562 เช่น กฎกติกาการใช้ ใครจะเป็นคนสั่งจ่าย การศึกษาวิจัยทำอย่างไร ผลิตระดับอุตสาหกรรมทำอย่างไร เป็นต้น
ล่าสุดจากรายงานความคืบหน้าแบ่งการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็น 2 กลุ่ม 1. แพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งมีการศึกษาวิจัยชัดเจนแล้วว่าใช้กัญชาได้คือ แก้คลื่นไส้อาเจียนในคนไข้มะเร็งที่รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักในเด็ก และปลอกประสาทอักเสบ ส่วนที่มีการศึกษาแต่ยังไม่ชัดเจน เช่น ลมชักดื้อยาอื่นๆ การมีผลต่อเซลล์มะเร็งในคนหรือไม่ พาร์กินสัน และจิตเวช อย่างอัลไซเมอร์ 2.แพทย์แผนไทยมี 4 ตำรับ ที่อยู่ระหว่างศึกษาว่าตำรับที่ต้องใช้มีอัตราส่วนของสารแคนนาบิดอยล์ (CBD) และสารเตตระไฮโดรแคนนาตินัล (THC) อย่างไร ปริมาณคนไข้ทั้งหมดเยอะหรือไม่ เพื่อจะได้ทราบว่าจะต้องมีน้ำมันกัญชาหรือยากัญชามากเท่าไร
ส่วนความคืบหน้าโครงการปลูกและวิจัยทำสารสกัดจากกัญชา ขององค์การเภสัชกรรมจะแบ่งเป็น 2 โครงการ คือ โครงการขอของกลางมาสกัด ซึ่งเสนอไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการเพื่อเสนอขออนุมัติ
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่นี่>>> ถอดรหัสร่างกฎหมายเปิดช่องปลูก“กัญชา”รักษาโรค