เปิดปฏิบัติการกู้ภัยสุดหิน เมื่อมนุษย์ต้องสู้กับธรรมชาติ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ข่าวปฏิบัติการณ์ค้นหาและช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลเยาวชน “หมูป่าอะคาเดมี่” กลายเป็นประเด็นที่โด่งดังไปทั่วโลก และมีความช่วยเหลือมากมายหลากหลายรูปแบบหลั่งไหลเข้ามายังถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเหตุการณ์การติดอยู่ในถ้ำหลวงของทั้ง 13 ชีวิตนี้ นับเป็นอุบัติเหตุทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง และต้องมี “การกู้ภัย” เพื่อช่วยชีวิต

ซึ่ง “การกู้ภัย” เป็นภารกิจที่ไม่ต่างอะไรจากการต่อสู้กับธรรมชาติ เป็นการทำลายขีดจำกัดของมนุษย์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ออกมาจากสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างปลอดภัย โดยในอดีตที่ผ่านมามีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นจากการทำภารกิจที่ดูไม่น่าเป็นไปได้

ซึ่งทีมหมูป่า ถือเป็นการกู้ภัยที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายโดยเฉพาะปัจจัยที่เกิดขึ้นภายในถ้ำ ทั้งสภาพอากาศ ความมืดมิด หินงอกหินย้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยจาก “น้ำ” ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเนื่องจากฤดูกาลน้ำหลาก ซึ่งทีมกู้ภัยเพื่อช่วยชีวิตต่างต้องเผชิญความท้าทายเหล่านี้ถึง 10 วันสำหรับค้นหาทั้ง 13 ชีวิตจนเจอแต่ใช่ว่าภารกิจจะจบเพราะการนำทั้ง 13 คนออกมาอย่างปลอดภัยเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่า

 ขณะที่ทั้ง 13 คนก็ทำให้โลกตะลึงเพราะภาพแรกที่ปรากฏหลังจากที่ทีมนักดำน้ำไปเจอ คือ สภาพร่างกายและจิตใจของพวกเขาทั้งหมดที่แข็งแรงกว่าที่หลายคนคิดมาก ซึ่งก็มีผลมาจากการเอาชีวิตรอดจากคำแนะนำของโค้ช เช่น การทำสมาธิเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้สูญเสียพลังงาน หรือการดื่มน้ำประทังชีวิตจากหินงอกหินย้อยจากถ้ำ เป็นต้น  ซึ่งอุบัติเหตุทางธรรมชาตินี้ก็เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศและหลายๆเหตุการณ์ต่างก็มีความท้าทายและการเอาตัวรอดไปจนถึงวิธีการกู้ภัยที่ท้าทายต่างกัน

 

ตัวอย่างที่ 1 พ่อครัวชาวไนจีเรียติดอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกนานกว่า 60 ชม. ปราศจากแสง อาหาร น้ำ และเกือบขาดอากาศหายใจ

เหตุการณ์เกิดขึ้นในบ่ายวันที่ 26 พ.ค. 2556 แฮร์ริสัน โอคีน พ่อครัวชาวไนจีเรีย อายุ 29 ออกเดินทางไปกับเรือลากจูง เอเอชที แกสคอน โฟร์ พร้อมลูกเรือ 12 คน ขณะลากเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ อากาศมีความแปรปรวน เกิดคลื่นใหญ่ ทำให้เชือกลากเรือขาด แรงจากการขาดทำให้เรือเอเอชทีเสียหลัก และจมลงใต้มหาสมุทรแอตแลนติกลึกลงไป 30 เมตร โอคีนถูกน้ำทะเลที่ทะลักเข้ามาซัดตัวเขาเข้าไปในห้องน้ำซึ่งติดกับห้องเก็บวัสดุอุปกรณ์ เคราะห์ดีที่ติดในห้องที่พอมีอากาศหายใจ เขาจึงหลบอยู่ในนั้น

จากการค้นหาของทีมกู้ภัยอย่างต่อเนื่อง 3 วัน ในที่สุดก็พบมือมนุษย์คนหนึ่งโบกออกมาจากห้องแคบที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์พลาสติก ชายคนนั้นคือ โอคีน และเขาเป็นคนเดียวที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้

โอคีนเป็นหนึ่งในมนุษย์ที่ท้าทายขีดจำกัด เพราะโดยปกติแล้วมนุษย์ต้องใช้ออกซิเจนประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตรในการหายใจ แต่ห้องที่โอคีนหลบอยู่มีออกซิเจนอยู่เพียง 1.2 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอให้หายใจได้เกิน 1 วัน แต่โอคีนรอดมาได้เนื่องจากผนังห้องที่เขาหลบนั้น มีเพดานถูกบุรอบอย่างแน่นหนาด้วยแผ่นพลาสติก เมื่อเรือจม ออกซิเจนจะเคลื่อนตัวไปรวมกันแล้วถูกกักอยู่ในห้องนั้น ทำให้ห้องที่หลบมีลักษณะคล้ายกับห้องอากาศใต้น้ำ ประกอบกับสภาพแรงดันใต้ทะเล สร้างแรงอัดในห้องอากาศ เพิ่มออกซิเจนอีก 4 เท่า ทำให้โอคีนสามารถเอาชีวิตรอดได้

ที่สำคัญคือโอคีนใช้เสื่อและผ้าปูพื้นคลุมร่างกายเพื่อเอาความอุ่น ไม่ให้ร่างกายเย็นจนเกิดภาวะตัวเย็น (Hypothermia) หรือการเสียชีวิตจากสภาพร่างกายที่อุณหภูมิเย็นเกินไป

แต่สำหรับทีมหมูป่าฯ แม้จะอยู่ในถ้ำที่มีอากาศเย็น แต่ด้วยภูมิประเทศของไทยซึ่งอยู่ในแถบโซนร้อนทำให้อุณหภูมิในถ้ำของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 27 องศาเซลเซียสเท่านั้น ไม่ได้ต่ำจนทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะตัวเย็น แตกต่างจากถ้ำในทวีปยุโรปหรืออเมริกาซึ่งถ้ำมักมีอุณหภูมิอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียส

 

ตัวอย่างที่ 2 คนงานเหมืองในประเทศชิลี 33 คน ติดอยู่ในเหมืองที่ลึกกว่า 700 เมตร เป็นเวลา 69 วัน

วันที่ 5 สิงหาคม 2553 เหมืองทองแดงและทองคำซานโฮเซ่ กลางทะเลทรายอาตากามา ทางตอนเหนือของชิลี ขณะที่คนงาน 33 ชีวิตกำลังทำงานตามปกติ ช่วงเวลาหลังอาหารกลางวัน ปล่องเหมืองอายุกว่าร้อยปีเกิดถล่ม พื้นยุบตัวปิดทางเข้าออก และถูกขังอยู่ใต้ความลึกกว่า 700 เมตร (ประมาณตึก 200 ชั้น)

แม้ไม่รู้สถานการ์ว่ามีผู้รอดชีวิตหรือไม่ แต่ปฏิบัติการณ์ช่วยเหลือก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยในขั้นแรก ทีมกู้ภัยเจาะรูเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้วบริเวณผิวดิน ตรงตำแหน่งที่คาดว่าคนงานจะหลบภัยอยู่ ใช้วลาหลายวันกว่าจะเจาะได้ รูแรกที้จาะไม่พบใคร แต่ทีมงานไม่เลิกและยังคงเจาะหลายจุดอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยง เนื่องจากประเทศชิลีอยู่ในพื้นที่แผ่นดินไหว หากเจาะหินแล้วเกิดแผ่นดินไหว อาจเกิดอันตรายต่อทั้งผู้ประสบภัยและผู้ช่วยเหลือ

17 วันผ่านไป ทีมกู้ภัยเจาะไปเจอจุดที่คนงานติดอยู่ในที่สุด และเมื่อดึงเครื่องมือขุดเจาะขึ้นมา พบกระดาษโน้ตแปะไว้พร้อมข้อความว่า “เราทุกคนปลอดภัย”

ในระหว่างที่รอความช่วยเหลือ คนงานทั้ง 33 ชีวิตต้องดำรงชีวิตด้วยอาหารสำรองซึ่งมีอยู่จำกัด โดยจัดสรรว่าทุก 48 ชม. จะได้กินบิสกิตคนละครึ่งชิ้น ปลาทูน่ากระป๋องคนละสองช้อน นมคนละครึ่งแก้ว ลูกพีชเล็กน้อย โดยใช้แบตเตอรี่จากรถในอุโมงค์ให้แสงสว่าง และขับถ่ายตามซอกมุมต่าง ๆ

หลังจากที่ทีมกู้ภัยเจอจุดที่ผู้ประสบภัยหลบอยู่ ได้มีการส่งเจลอาหารเสริม ซุป และยา ผ่านท่อพลาสติก จากนั้นแพทย์จึงส่งเนื้อและข้าวตามไปทีหลัง โดยควบคุมพลังงานไว้ที่ 2200 แคลอรี เพื่อไม่ให้ผู้ประสบภัยมีน้ำหนักมากเกิน เพราะรูทางออกอยู่ไกล 700 เมตร และแคบเพียง 66 เซนติเมตร

ผ่านไป 69 วัน คนงานทั้ง 33 ถูกนำตัวขึ้นมาด้วยแคปซูล “ฟินิกซ์” ซึ่งออกแบบโดยองค์กรนาซ่า ลักษณะเป็นเหล็กยาว 2.5 เมตร กว้าง 21 นิ้ว ภายในบรรจุถังอากาศ มีไมโครโฟนสำหรับสื่อสารและมอนิเตอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจ โดนใช้เครื่องจักรค่อย ๆ ดึงแคปซูลขึ้นมา แคปซูลขนได้ทีละคนเท่านั้น ใช้เวลา 30 นาทีต่อคน รวมใช้เวลาทั้งสิ้น 22 ชั่วโมง 37 นาทีจึงช่วยทั้งหมดออกมาได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงการรับมืออย่างมีสติของผู้ประสบภัย รวมถึงคนข้างบนที่ไม่ถอดใจ เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่ถ้ำหลวงของประเทศไทย ที่โค้ชเอกมีสติและสามารถรักษาสุขภาพจิตและชีวิตของเด็ก ๆ 12 คนไว้ได้ รวมถึงความร่วมมือของคนข้างนอกที่ประสานงานกันจนพบทั้ง 13 ชีวิตในที่สุด ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเมื่อเจอตัวผู้ประสบภัยแล้ว ยังไม่สามารถนำตัวขึ้นมาได้ เพราะมีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพร่างกายที่ต้องรอให้เหมาะสมแก่การนำออกมา

 

ตัวอย่างที่ 3 การค้นหาเรือดำน้ำอาร์เจนตินาที่หายสาบสูญ

15 พ.ย. 2560 เรือดำน้ำ เออาร์เอ ซานฮวน กำลังเดินทางกลับฐาน แต่หายไปในมหาสมุทรแอตแลนติกพร้อมลูกเรือ 44 นาย โดยก่อนสัญญาณจะขาดหาย มีการแจ้งความผิดปกติเรื่องแบตเตอรี่ แต่ไร้สัญญาณขอความช่วยเหลือ

หลังยืนยันว่าสูญหาย ทีมค้นหา 14 ประเทศระดมกำลังค้นหาในพื้นที่ค้นหา 5 แสนตารางกิโลเมตร แต่ด้วยคลื่นลมอากาศที่เลวร้ายเป็นอุปสรรคทำให้การค้นหาไม่ประสบผลสำเร็จ

ตามระเบียบกองทัพ หากเรือดำน้ำขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน กัปตันจะต้องนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำ โฆษกทัพเรืออาร์เจนตินา ระบุว่า ปัญหาสภาพท้องทะเลที่มีคลื่นสูง 6 เมตร ทำให้คาดการณ์ว่ากัปตันต้องตัดสินใจดำน้ำ ในกรณีที่สภาพตัวถังไม่ฉีกขาด ออกซิเจนในเรือจะเพียงพอให้ลูกเรืออยู่ได้ 7-10 วัน

8 วันต่อมา องค์กรสนธิสัญญาการห้ามทดสอบทางนิวเคลียร์ ซึ่งมีสถานีตรวจจับเสียงใต้ทะเล ระบุว่า สามารถตรวจจับเสียงระเบิดสั้น ๆ แต่รุนแรงได้ 1 ครั้ง ราว 3 ชั่วโมง หลังสัญญาณจากเรือดำน้ำขาดหาย จากการวิเคราะห์สรุปว่า เสียงนั้นไม่ได้มาจากการทดสอบทางนิวเคลียร์ เกิดข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการระเบิดของเรือดำน้ำซานฮวน

15 วันหลังขาดการติดต่อ ทัพเรืออาร์เจนยุติการค้นหา เพราะที่ผ่านมาขยายเวลาค้นหาออกไปมากกว่ากรอบระยะเวลาของความเป็นไปได้ที่จะช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากนานาประเทศที่ร่วมส่งกำลังพลมารวม 4000 นายแล้วก็ตาม

โฆษกกองทัพเรืออาร์เจนตินา สรุปว่า น้ำได้เข้าสู่ช่องหายใจของเรือดำน้ำ ทำให้ไฟฟ้าขัดข้อง นำไปสู่การสูญหาย ทว่าทางครอบครัวกล่าวโทษว่าเกิดจากอายุการใช้งานเรือที่มากถึง 35 ปี เป็นความทรุดโทรมของเครื่องมือในกองทัพ

ตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการกู้ภัยในหลากหลายสถานการณ์ทั่วทั้งโลก ซึ่งสำหรับกรณีของทีมหมูป่าฯ นี้ นับว่าประสบความสำเร็จในระยะแรกแล้ว นั่นคือการพบตัว แต่ยังต้องรอเวลาที่เหมาะสมจึงจะนำตัวออกมาได้ซึ่งก็ยังต้องเผชิญความท้าทายจากธรรมชาติอยู่ด้วย แต่เรื่องที่น่าชื่นชมของปฏิบัติการณ์กู้ภัยครั้งนี้คือการเปิดรับผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ และการเร่งประสานงานกันเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยทุกฝ่ายมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเหมือนกัน นั่นคือ “การช่วยชีวิต”

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ