ตลอดการแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์การช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี วานนี้ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ยังคงยืนยันว่าภารกิจการลำเลียงทั้ง 13 คน ออกมาไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเปรียบเทียบให้ฟังว่า ขนาดหน่วยซีลที่เข้าไปช่วยเหลือถ้านับเวลาจากปากถ้ำ ไปถึงเนินนมสาว จุดที่ 13 ชีวิตอยู่ ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 11 ชั่วโมง ซึ่งจุดที่ยากจะอยู่ช่วงโถง 3 ผ่านสามแยกไปยังเนินนมสาว ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง โดยมีหลายจุดที่ยังต้องใช้วิธีการดำน้ำเข้าไป แม้ระดับน้ำทางปากถ้ำ จะลดระดับลงไปมาก
ขณะที่การพยากรณ์อากาศหลังจากนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีในตกในพื้นที่ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยา แบบวันต่อวัน เพื่อประเมินกลุ่มเมฆและปริมาณฝนที่จะตกลงมาสมทบ
ส่วนการสูบน้ำ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ยังทำได้เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะที่ถ้ำทรายทอง จุดที่เชื่อว่าทางน้ำเชื่อมต่อกับถ้ำหลวง ตอนนี้ท่อสูบน้ำพญานาคขนาดใหญ่ 3 ท่อ สูบน้ำออกได้มากถึง 1.6 ล้านลิตรต่อชั่วโมง และยังมีบ่อบาดาลอีก 10 บ่อ ที่สามารถสูบน้ำออกได้ถึง 2 แสนลิตรต่อชั่วโมง
ส่วนการสูบน้ำตรงบริเวณถ้ำหลวง ถ้าเป็นบ่อบาดาล สามารถสูบน้ำออกได้รวม 1.8 หมื่นลิตรต่อชั่วโมง ส่วนการสูบออกจากถ้ำโดยตรง เจ้าหน้าที่ยังคำนวณไม่ได้ เพราะไม่ได้เดินเครื่องตลอดเวลา ต้องคอยขยับเครื่องตามน้ำเข้าไปเรื่อยๆ ซึ่งรวมน้ำที่สูบออกมาทั้งระบบ นับตั้งแต่เริ่มภารกิจ สามารถสูบน้ำออกไปได้มากถึงประมาณ 130 ล้านลิตร
ส่วนการต่อสายโทรศัพท์ เข้าไปด้านในถ้ำ เพื่อให้น้องน้องๆทีมหมูป่า ได้คุยโทรศัพท์กับญาติขณะนี้ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ซึ่งสายอยู่บริเวณสามแยก
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดตั้งแต่วานนี้ไปจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม ทางภาคเหนือจะมีฝนตกหนัก ทำให้กรมอุตุฯ ต้องส่งข้อมูลฝนให้ทีมถ้ำเขาหลวงทุกๆ 15 นาที เพื่อประเมินสถานการณ์
ลักษณะภูมิประเทศบริเวณถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ที่หน้าเขาเป็นจุดปะทะลม และความอุดมสมบูรณ์ของฝืนป่า คือสิ่งที่นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา มองว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริเวณถ้ำหลวงมีฝนตกชุกกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะช่วงนี้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ได้พัดพาความชื้นจากทะเลอันดามัน เข้ามาทางตะวันตกของไทยและพัดเข้าสู่ภาคเหนือ แม้ก่อนที่ลมจะพัดมาถึงจังหวัดเชียงราย จะมีเทือกเขาบัง ช่วยให้ลมมรสุมมีกำลังอ่อนลงก็ตาม
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในถ้ำหลวงได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลง 1 เซนติเมตร ต่อ 1 ชั่วโมง ต่างจากก่อนหน้านี้ ลดลง 1 เซนติเมตรต่อ 2 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินการสูบน้ำอย่างตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากถ้ำให้เร็วที่สุด รวมทั้งสำรวจหาทางน้ำเพื่อเบี่ยงน้ำ สกัดน้ำไม่ให้เพิ่มเติมที่ถ้ำหลวง
หลังจากกรมชลประทาน ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรธรณี มณฑลทหารบกที่ 37 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและจิตอาสา และได้รับการสนับสนุนท่อบายพาสน้ำจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในการทำทางเบี่ยงน้ำจากฝายแห่งที่ 1 กั้นลำห้วยน้ำดั้น ฝายแห่งที่ 2 กั้นลำห้วยผาหมี บริเวณบ้านผาหมี ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย และฝายแห่งที่ 3 กั้นลำห้วยผาฮี้ บริเวณบ้านมูเซอผาฮี้ ต.โป่งงาม อ.แม่สาย สามารถตัดยอดน้ำรวมกันได้ประมาณ 32,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ทั้งนี้ สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน ยังคงดำเนินการสำรวจสภาพทางธรณีของลำห้วยซึ่งอยู่ในบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อไป เพื่อค้นหาร่องรอยและบริเวณที่คาดว่าน้ำไหลซึมเข้าไปภายในถ้ำ และหาพื้นที่สำหรับทำฝายชั่วคราวและทางเบี่ยงน้ำเพิ่มเติม จนกว่าสถานการณ์น้ำภายในถ้ำจะลดลงจนถึงระดับที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน ออกมาได้อย่างปลอดภัย