วันนี้ (6 ก.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการใช้ อุโมงค์ผ้าใบ ช่วย 13 ชีวิต ที่ติดในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มาจากเฟซบุ๊กของ “วาสนา นาน่วม” ผู้สื่อข่าวสายทหาร โพสต์ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดใช้ “อุโมงค์น้ำผ้าใบ” มาใช้ในการเคลื่อนย้าย 13 ชีวิต ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน บางส่วนเพื่อลดการดำน้ำเป็นช่วง ๆ ในโพสต์มีการอธิบายว่า อุโมงค์น้ำนี้ มีลักษณะเป็นท่อผ้าใบ ความยาว 700 เมตร สามารถยืดหยุ่น ปรับรูปไปตามโขดหิน และซอกหินได้มากว่า
โดยแนวคิดนี้ เหมือนกับ แนวคิดของ นายไพโรจน์ ทุ่งทอง ประธานกรรมการบริหาร สวนลุมไนท์บาซาร์ ที่เสนอให้ วางท่อนี้ผ่านแนวเส้นทางที่ต้องดำน้ำ แล้วอัดอากาศให้พอง โดยเชื่อว่าเด็กจะสามารถคลานลอดท่อผ้าใบนี้ได้ โดยแนวคิดดังกล่าว ก็ได้รับการสนับสนุนจากนายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไพจิตร ผาวัน หัวหน้าภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก็เชื่อว่ามีทางเป็นไปได้ และควรทดลองเป็นทางเลือก
ทั้งนี้หลักการข้อเสนอดังกล่าว ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อเสนอของ อิลอน มัสก์ ที่ระบุว่า แนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือ 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง คือ การสอดท่อไนลอนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ตามจุดต่าง ๆ ของถ้ำที่เคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยได้ลำบาก แล้วอัดอากาศเข้าไปในท่อให้พองตัวเหมือนกับปราสาทเป่าลม โดยท่อไนลอนนี้ยังสามารถยืดหยุ่นปรับรูปทรงให้รับกับสภาพภายในถ้ำที่แตกต่างกันได้ด้วย ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า มีการพูดคุยแนวคิดนี้จริง แต่ยังต้องประเมินความเป็นไปได้กับพื้นที่อย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนการขุดเจาะถ้ำ พล.อ.อนุพงษ์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้วันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.61) โดย ปตท. และ เชฟรอน จะเป็นผู้สนับสนุนเครื่องมือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาจุดหาโพรงที่จะให้ตรงกับเนินนมสาว ที่เด็กอยู่มากที่สุด
ขณะเดียวกัน นายไพโรจน์ ทุ่งทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้นำเสนอแนวคิด สอดท่อผ้าใบอัดลมช่วย 13 ชีวิต เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่เป็นสถาปนิกและมีความรู้ เมื่อตอนที่เคยสร้างตึกที่มีชั้นใต้ดินลึกประมาณ 6 - 8 เมตร ตนใช้ผ้าใบในการรองรับกันฝุ่นทั้งหมดของตึก ซึ่งเป็นเทคนิดส่วนตัวที่ใช้ทำชั้นใต้ดินโดยเป็นชิ้นสำเร็จรูป และก็พัฒนามาใช้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้เห็นข่าว 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก็เลยคิดแนวคิดนี้มา โดยผ้าใบแคนวาส (Canvas) สามารถทนต่อแรงดึงและแรงดันสูง คล้าย ๆ บ้านลมที่เด็กขึ้นไปเล่นแล้วสไลด์ลงมา ซึ่งต้องนำผ้าใบแคนวาสมาสร้างเป็นท่อวงกลม และตอนนี้มีท่อเสมือนจริงยาว 200-300 เมตร ใช้เวลาทำท่อผ้าใบ 100 เมตร ไม่เกิน 4 ชั่วโมง
ทั้งนี้ นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ตนได้เสนอแนวคิดดังกล่าวบนเฟซบุ๊กส่วนตัว จนกระทั่งนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาทดสอบด้วยตัวเองเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.61) ล่าสุดวันนี้มีหน่วยงานราชการ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเจ้าหน้าที่มาทดสอบความแข็งแรง ซึ่งตนก็ได้ทดสอบผ้าใบแคนวาส พบว่าสามารถทนเหล็กทิ่มแทง และฆ้อนทุบได้ อย่างไรก็ตามวิธีการนำท่อผ้าใบเข้าไปถ้ำ โดยเข้าไปตามไกด์ไลน์ที่หน่วยซีลทำเชือกไว้ แล้วคนอีกฝั่งดึงเชือก จากนั้นท่อดังกล่าวก็จะไปโผล่อีกฝั่งหนึ่ง หลังจากนั้นค่อย ๆ เติมลมเข้าไป