ระยะเวลาที่เด็กและโค้ช ทีมฟุตบอลลูกป่า ติดอยู่ในถ้ำ และขาดแคลนอาหาร อาจส่งผลให้สภาพร่างกาย และภูมิต้านท้านโรคต่างๆ อ่อนแอลง นี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ทั้ง 13 คน ได้รับเชื้อโรคต่างๆที่อยู่ในถ้ำได้ง่าย นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สุขภาพที่ 1 เปิดเผยถึงแนวทางการรักษาอาการทั้ง 13 คนว่า ระยะแรกจะต้องตรวจรักษาอาการทั่วไปให้อยู่ในสภาวะตามเกณฑ์ปกติ เช่น ความดันโลหิต ระบบการหายใจ เป็นต้น ส่วนหลังจากนั้น จะต้องเจาะเลือดทั้ง 13 คน ไปตรวจหาเชื้อโรคที่อาจแฝงอยู่ในร่างกายของทั้ง 13 คน เนื่องจากมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะได้รับเชื้อโรค เพราะติดอยู่ในถ้ำนานหลายวัน
ทีมข่าว พีพีทีวี สอบถามไปยัง นพ.สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ รอง ผอ.โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล หนึ่งในโรงพยาบาลเชี่ยวชาญด้านโรคที่เกิดจากการท่องเที่ยว ระบุว่า ทั้ง 13 คน มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ 3ประเภท คือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา โดยเฉพาะโรค “ฮีสโตพลาสมา” ที่เกิดจากสปอร์ของเชื้อรา ที่เจริญอยู่บริเวณผิวดินที่ชุ่มชื้น โดยเฉพาะบริเวณที่นกหรือค้างคาวถ่ายมูลไว้ อาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
ส่วนโรคอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ หากติดเชื้อไวรัส อาจทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่นโรคไข้หวัดใหญ่ หากติดเชื้อแบคทีเรีย มีโอกาสทำให้เกิดโรค ปอดอักเสบ ปอดปวม หรือ บริเวณผิวหนัง อาจมีหนอง ฝี เกิดขึ้นได้ ส่วนโรคที่เกิดจากสัตว์ มีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จากสัตว์ในอยู่ในถ้ำ ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ จากค้างคาว หรือเลปโตสไปโรซิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จากสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู และเชื้อไข้เลือดออก หรือ ไข้มาลาเรีย จากยุง
แนวทางการตรวจหาเชื้อเหล่านี้ จะต้องเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย ส่งตรวจยังห้องแล็ป คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์