วิธีป้องกันไม่ให้โดน “ปลอมบัตร” ลงทะเบียนซิมการ์ด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นข่าวดังของวันนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ได้ควบคุมตัว นายพีระเมศร์ วงศ์ทองเกื้อ ผู้ต้องหาในคดีสวมรอยบัตรประชาชนของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปฝากขังต่อศาลอาญา หลังถูกจับกุมตัวในคดี ลงทะเบียนเปิดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือจำนวน 55 ซิมการ์ด ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฐานเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ โดยทุจริตหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ขณะที่นางจิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้อำนวยการ สำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากแอพพลิเคชั่นของ กสทช. ที่เพิ่งนำมาใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยี แต่หลังจากนี้ก็จะต้องประชุมกับตัวแทนเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

อ่านข่าว : ฝากขังมือปลอมบัตรนายกฯเปิดซิมการ์ด “คาดโทษสูงสุดคุก 275 ปี”

“ทรูมูฟ เอช” ยัน ตรวจสอบลงทะเบียนซิมการ์ดเข้ม ป้องกัน “ปลอมบัตร”

จากกรณีที่มีผู้ปลอมบัตรประชาชนของท่านนายกรัฐมนตรี แล้วนำไปลงทะเบียนซิมการ์ดแบบเติมเงินของบริษัท เรียล มูฟ จำกัด นั้น บริษัท ฯ ขอชี้แจงว่า ทันทีที่ บริษัทฯ ตรวจสอบพบความผิดปกติจากการลงทะเบียนซิมการ์ดแบบเติมเงิน ผ่านแอพพลิเคชั่น 2 แชะ บริษัทฯ มิได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบ รวบรวมข้อมูลหลักฐาน และแจ้งเรื่องต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยเร็ว พร้อมประสานให้ความร่วมมือในการสืบสวนจนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดได้ในที่สุด

นักวิชาการคอมพิวเตอร์ แนะวิธีการการป้องกันโดยปลอมบัตรลงทะเบียนซิมการ์ด

นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แนะวิธีการการป้องกันตนเองเบื้องต้นเพื่อมิให้ผู้อื่นนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้งาน ดังนี้

1.อย่าโพสต์รูปที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับเอกสารราชการ เช่น รูปถ่ายติดบัตรประชาชน บัตรประจำตัว หนังสือเดินทางต่างๆ ขึ้นสู่ระบบอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะภาพที่มีความละเอียดสูง เนื่องด้วยอาจจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำภาพลักษณะดังกล่าวไปตัดต่อได้ง่าย และยากต่อการตรวจสอบ

2.อย่าโพสต์ข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การโพสต์ข้อความใต้ภาพสินค้า เพื่อสั่งซื้อสินค้า เพราะผู้ไม่ประสงค์ดีอาจจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้แอบอ้างเป็นท่าน หรือเอาไปใช้ยืนยันข้อมูลในการทำธุรกรรม

3.อย่าหลงเชื่ออีเมลที่มีการอ้างให้ท่านส่งข้อมูลส่วนตัว เช่น อ้างเป็นธนาคาร หรือสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยใดๆ ก็ตาม เพื่อให้ท่านกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรเครดิตหรืออื่นๆ ด้วยอาจจะเป็นอีเมลหลอกลวงได้ ทั้งนี้ผู้ใช้งานควรดูอีเมลที่ส่งมาด้วยว่าส่งมาจากแหล่งใด อย่าดูแต่เพียงชื่ออย่างเดียว ให้ดูที่อยู่อีเมลด้วย

4.อย่าให้ข้อมูลโดยง่าย ควรอ่านเงื่อนไขการให้บริการหรือการให้ข้อมูลว่ามีลักษณะการให้บุคคลที่สามหรือไม่

5.อย่ากดปิดเว็บที่มีโฆษณาโดยไม่อ่านให้แน่ชัดว่าเป็นปุ่มกดปิดหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นปุ่มหลอกที่นำไปสู่การเก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานได้โดยง่าย

6.อย่าใช้โปรแกมปลอม ควรใช้งานโปรแกรมที่ถูกกฎหมาย เพราะอาจจะมีการฝังโปรแกรมดักข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ