รองโฆษกตำรวจ แจงกำลังคนน้อย ไม่อาจจับคนทำผิดได้ทุกคดี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ข้อสงสัยจากสังคมกรณีการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของนายธนิต ทัฬหสุนทร โดยเฉพาะประเด็นการรวบรวมพยานหลักฐาน ว่ามีความบกพร่องหรือไม่ จนศาลชั้นต้นยกฟ้อง มีคำชี้แจงจากรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการทำคดีในภาพรวมของตำรวจ ที่ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้ว่ากระบวนการยุติธรรม มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบอยู่

วันนี้ (1 ส.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงความคิดของคนที่อาจเข้าใจว่า ผลการตัดสินคดี เป็นเพราะการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนอย่างเดียวหรือไม่ทำได้ยาก แต่อำนาจการรวบรวมพยานหลักฐาน เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย ซึ่งต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องหา จนนำไปสู่การออกหมายจับ และต้องสอบปากคำ แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ก่อนทำสำนวนส่งให้พนักงานอัยการ สั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หากอัยการเห็นว่าในสำนวนการสอบสวน มีบางประเด็นขาดตกบกพร่อง พนักงานอัยการ จะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม เพื่อหาหลักฐานให้หนาแน่นขึ้น จะเห็นว่าก่อนสำนวนคดี จะถึงศาล ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากอัยการก่อน ส่วนที่สังคมตั้งคำถามว่า บางคดีที่มีหลักฐานหลายชิ้นไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า สำนวนทุกคดีต้องผ่านพนักงานอัยการ หากเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์พนักงานอัยการสามารถสั่งสอบสวนใหม่

ขณะที่นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ระบุว่า อัยการจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวนว่าเป็นไปตามหลักการหรือไม่ แต่ไม่อาจทราบได้ว่าแต่ละคดี มีหลักฐานหรือพยานไหนบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ที่ต้องระบุในสำนวนให้ชัดเจน

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้ำว่า บางคดีที่ผู้เสียหายต้องไปหาหลักฐานมาเอง อาจเป็นลักษณะที่พนักงานสอบสวนขอให้ผู้เสียหายนำมายื่น เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด ที่พอจะยืนยันได้ว่าใครเป็นคนร้าย แต่หากพนักงานสอบสวนให้ผู้เสียหายไปหาหลักฐานเอง โดยไม่พยายามหาเพิ่ม ถือเป็นการจงใจละเลยปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในยุคนี้ พร้อมระบุว่าสัดส่วนตำรวจกับจำนวนประชากร อาจไม่ตอบโจทย์สภาพสังคมที่เป็นอยู่ ในจำนวนตำรวจกว่า 2 แสนคน เป็นเรื่องปกติ ที่อาจมีคนไม่ดีปะปนอยู่

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้ำว่า ในกระบวนการยุติธรรม อาจไม่ใช่ทุกกรณีที่จะตอบได้ว่าใครเป็นคนกระทำผิด โดยยกตัวอย่างทฤษฎีหนึ่งที่เรียกว่าอาชญากรรมที่สมบูรณ์แบบ การสืบสวนไม่สามารถตอบได้ว่าใครเป็นคนร้าย เพราะคนร้ายไม่ทิ้งร่องรอย ก็ไม่สามารถสืบสวนได้ ซึ่งทั่วโลกมีหลายคดีที่เป็นเช่นนี้ สอดคล้องกับความเห็นของรองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ที่มองว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีแค่ตำรวจ แต่ยังมีอัยการ และศาลอีก และกุญแจที่สำคัญก็คือประชาชนจะให้ความร่วมมือได้มากน้อยแค่ไหน

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ