เมื่อวันที่ (2 ส.ค. 61) ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช เปิดเผยกับทีมข่าว PPTV ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขอคัดถ่ายเอกสาร ตรวจสำนวนคดีการเสียชีวิตของ นายธนิต ทัฬหสุนทร หรือ เต้ ลูกชายของ นายศุภชัย ทัฬหสุนทร คนที่กระโดดตึกชั้น 8 ศาลอาญาเสียชีวิต เพื่อดูข้อผิดพลาดต่างๆที่ผ่านมา ส่วนเทคนิคในการต่อสู้คดี จะขอให้พนักงานสอบสวนให้ช่วยติดตามตัว “นายตง” พยานปากสำคัญที่เคยให้การกับตำรวจว่าเห็น “นายโจ้” ใช้มีดปลายแหลมที่เหน็บไว้ที่เอวข้างหลัง แทงไปที่ร่างผู้ตายในวันเกิดเหตุ เพราะจะใช้คำให้การนี้ไปยื่นต่อศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 เพื่อขอให้ศาลสอบพยานเพิ่มเติม
ด้าน พลตำรวจตรีสมพงษ์ ชิงดวง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง และ สน.ห้วยขวาง จะประชุมติดตามความคืบหน้าคดีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยอาจจะเชิญตัวพยานปากสำคัญ และครอบครัวของนายเต้ และนายโจ้เข้ามาด้วย เพื่อสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย
ด้าน พันตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า สำนวนคดีทุกคดีที่พนักงานสอบสวนสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งจากการสอบปากคำผู้ต้องหาและพยานที่เห็นเหตุการณ์ ตามหลักการแล้ว ก่อนสำนวนจะถูกส่งไปยังศาลเพื่อพิจารณา สำนวนต้องผ่านการตรวจสอบจากพนักงานอัยการก่อนว่ามีความบกพร่องหรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ทำ และจะส่งกลับให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนที่อาจเข้าใจว่า ผลการตัดสินคดีเป็นเพราะการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนอย่างเดียวหรือไม่ แต่สิ่งที่ชี้แจงไปถือว่าเป็นหลักการที่ตายตัวอยู่แล้ว
ส่วนที่สังคมตั้งคำถามว่า บางคดีที่มีหลักฐานหลายชิ้นไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า สำนวนทุกคดีต้องผ่านพนักงานอัยการ หากเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์พนักงานอัยการสามารถสั่งสอบสวนใหม่ แต่ประเด็นนี้ก็มีคำโต้แย้ง จากนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ระบุว่า อัยการจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวนว่าเป็นไปตามหลักการหรือไม่ แต่ไม่อาจทราบได้ว่าแต่ละคดี มีหลักฐานหรือพยานไหนบ้าง เนื่องจากไม่ได้ลงไปสอบสวนด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ที่ต้องระบุในสำนวนให้ชัดเจน
ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่า หลายคดีที่พนักงานสอบสวนให้ผู้เสียหายหาหลักฐานด้วยตัวเอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้ำว่า อาจเป็นลักษณะที่พนักงานสอบสวนขอให้ผู้เสียหายนำมายื่น เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิดที่พอจะยืนยันได้ว่าใครเป็นคนร้าย เพื่อให้การดำเนินคดีทำได้เร็วขึ้น แต่หากพนักงานสอบสวนให้ผู้เสียหายไปหาหลักฐานเอง โดยไม่พยายามหาเพิ่ม ถือเป็นการจงใจละเลยปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะองค์กรตำรวจที่มีบุคลากรถึง 2 แสนกว่าคน เป็นเรื่องปกติที่จะมีคนไม่ดีปะปน
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่าปัญหาการสอบสวนในปัจจุบันหลายอย่างมีปัญหา เพราะพนักงานสอบสวนจบใหม่ มีประสบการณ์น้อย รวมถึงสัดส่วนบุคลากรที่ไม่ตอบโจทย์ต่อจำนวนคดีที่เข้ามาในแต่ละวัน สอดคล้องกับความเห็นของอัยการปรเมศวร์ ที่ระบุว่า หลายครั้งที่พนักงานสอบสวนถูกกดดันจากสังคม ให้เร่งทำคดีจนรายละเอียดบางอย่างของสำนวนถูกละเลยไป จนกลายเป็นทำให้สำนวนไม่สมบูรณ์