“จิสด้า” แจงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง "ดาวเทียมธีออส – 2 " ยันไม่มีการล็อคสเปค
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ชี้แจงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 หลังจากได้รับการอนุมัติเมื่อปีต้นปี 2560
วันนี้ (7 ส.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จัดแถลงข่าวการดำเนินงานโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาหรือ ธีออส – 2 โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำหรับโครงการ THEOS-2 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อการจัดหาดาวเทียมถ่ายภาพเพื่อทดแทนดาวเทียมไทยโชตในปัจจุบันที่ครบอายุการใช้งานและระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการประยุกต์ใช้งานที่ทันสมัยสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ชี้แจงว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 เริ่มตั้งแต่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร สทอภ. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 เป็นโครงการที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาทางด้านสังคมเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงในระยะยาว โดยการจัดหาดาวเทียมและนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อการตัดสินใจหรือ Actionable Intelligence Policy หรือ AIP ซึ่งเป็นระบบที่ยังไม่เคยมีการใช้งานมาก่อนในประเทศไทย รวมถึงในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็มีระบุถึงการใช้ AIP เป็นเครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์และบริหารจัดการพื้นที่แบบครบวงจร
สำหรับการดำเนินงานโครงการ THEOS-2 สทอภ. มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่แตกต่างไปจากโครงการ THEOS-1 ที่ลงนามในสัญญาเมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษที่ซื้อตรงจากบริษัท Astrium แต่โครงการ THEOS-2 เป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบการประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Competitive Bidding: ICB) ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนจากทุกประเทศที่มีศักยภาพสามารถเข้าแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งผลการคัดเลือกปรากฏว่ามีผู้ผ่านการพิจารณาจำนวน 2 ราย โดยมีการยืนยันว่าไม่ได้มีการล็อคสเปคแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้มีการเปิดเผยรายงานผลการสังเกตการณ์ ของคณะผู้สังเกตการณ์นั้น รายงานดังกล่าวมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านเทคนิคและอื่นๆ ที่เป็นความลับทางการค้าของผู้ยื่นซองประกวดราคา จำนวน 7 ราย ซึ่งตาม ITB กำหนดไว้โดยสรุปว่า สทอภ. ต้องเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ สำหรับในส่วนของ Statement of Work ที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างนั้น ก็เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการดำเนินการของผู้รับจ้าง ซึ่งในสัญญาได้กำหนดไม่ให้เปิดเผยข้อมูลโดยทั่วไป แต่สามารถเปิดเผยให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น
ขณะที่ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง สทอภ. ได้ขอคำแนะนำจากการดำเนินการในส่วนต่างๆ และรับฟังความคิดเห็นจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐมาอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นตอนการลงนามในสัญญาที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้กระบวนการและเงื่อนไขต่างๆ ของการประกวดราคาตลอดจนถึงการบริหารสัญญามีความเป็นธรรม โปร่งใส และถูกต้องทั้งทางด้านเทคนิค ด้านราคา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้