อ.ปรเมศวร์ ชี้ “ฟอร์จูนเนอร์” ชนคนตกทางด่วน อ้างคันหน้าไม่เปิดไฟกระพริบฟังไม่ขึ้น

โดย PPTV Online

เผยแพร่

อาจารย์ปรเมศวร์ ชี้ รถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ ชนคนตกทางด่วนผิดเต็มๆอ้างรถคันหน้าไม่เปิดไฟกระพริบฟังไม่ขึ้น ด้าน นักวิชาการ ระบุคนขับรถฟอร์จูนเนอร์ ขาดความระมัดระวัง แนะ รถเสียบนทางด่วนควรนั่งอยู่ในรถคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งคนขับและผู้โดยสาร

จากกรณีอุบัติเหตุบนทางด่วนพิเศษฉลองรัช ขาเข้า รามอินทรา มุ่งหน้า สุขุมวิท 50 รถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ สีขาว พุ่งชน รถยนต์ ยี่ห้อเกีย รุ่นคาร์นิวัล สีเทา สภาพท้ายรถและฝั่งขวารถเสียหาย ส่งผลให้ น.ส.ธัญญพัทธ์ วิพันธ์พงษ์ อายุ 68 ปี ตกลงมาจากทางด่วนเสียชีวิต แต่คนขับรถฟอร์จูนเนอร์อ้างว่ารถคันหน้าไม่เปิดไฟกระพริบจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด กล่าวในรายการ “เป็นเรื่องเป็นข่าว”บางช่วงบางตอนว่า เหตุการณ์นี้รถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ผิดเต็มๆ และที่พยายามจะบอกว่ารถคันหน้าก็มีความผิดด้วยเพราะไม่เปิดไฟกระพริบ ปกติแล้วการขับรถนั้นรถคันหลังต้องระวังคันหน้า ไม่ใช่ให้คันหน้าต้องระวังคันหลัง และกฎหมายก็เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เหตุการณ์นี้รถคันหน้าจะมีความผิดด้วยหรือไม่ต้องมาดูจุดที่ชน แต่ภาพวงจรปิดจะเห็นว่ารถยนต์ฟอร์จูนเนอร์จะไปอยู่ในช่องไหล่ทางเกือบทั้งคัน ซึ่งไหล่ทางไม่ใช่ทางรถวิ่ง และจุดนั้นไม่มีเส้นให้ออกจากเพื่อจะลงทางด่วน ในความเห็นของตนจะว่ารถคันหน้าประมาทนั้นไม่ใช่ เพราะยังไม่ถึงช่วงที่รถยนต์ฟอร์จูนเนอร์จะลงทางด่วน

คำถามต่อมาทำไมรถตามหลังคันอื่นขับหลบได้ ดังนั้น การขับรถโดยประมาท คือ บุคคลนั้นไม่มีวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งรถคันอื่นๆมีวิสัยและพฤติการณ์ถึงขับผ่านไปได้ แต่รถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ทำไมถึงไม่มีวิสัยพฤติการณ์ การมาอ้างว่ารถคันหน้าไม่กระพริบไฟ หรือ มองไม่เห็นข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น และถ้านำเรื่องนี้ไปต่อสู้ในชั้นศาลคงยาก และก็ตั้งข้อสังเกตุว่าคนขับต้องทำอะไรสักอย่างเพราะไม่เช่นนั้นรถคงไม่พุ่งมาชนแรงแบบนี้

ในทางคดีเขาจะดูพฤติกรรมว่ามีรอยเบรคมากน้อยเพียงใด เพราะจะทำให้รู้ว่าคนขับมีความประมาทมากหรือประมาทน้อย คดีขับรถชนในสมัยนี้แตกต่างต่างจากในสมัยก่อน เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีต่างๆมาช่วย คดีนี้ถือว่าขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ส่วนเรื่องค่าเสียหายจะต้องไปฟ้องแพ่งหรือไม่ นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความทางอาญามาตรา 44/1  ผู้เสียหายในคดีอาญาไม่ว่าคดีถูกชน หรือ คดีถูกฆ่า ความจริงแล้วอยากให้พนักงานสอบสวนแจ้งผู้เสียหายว่ามีค่าเสียหายเท่าไหร่แล้วลงบันทึกไว้ในสำนวน เวลาส่งสำนวนให้พนักงานอัยการก็ช่วยแจ้งผู้เสียหายรับทราบด้วย เพื่อให้ผู้เสียหายติดต่อทางอัยการ ถ้าอัยการสั่งฟ้องก็ไปยื่นคำร้องขอเรียกค่าเสียหายพ่วงไปด้วย บางคนถูกรถชนแล้วต้องไปเสียค่าธรรมเนียมเอง ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าผิด ดังนั้นควรยื่นคำร้องขอเรียกค่าเสียหายพ่วงกับสำนวนของพนักงานอัยการ เมื่อศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดศาลก็จะสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายด้วย ไม่จำเป็นต้องมายื่นฟ้องแพ่งในภายหลัง

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ในบ้านเราเวลาขับรถมักจะไม่เว้นระยะห่างสำหรับคันหน้า เมื่อไม่เว้นระยะห่างทำให้วิสัยทัศน์การมองในมุมด้านซ้ายของคนขับจะมีข้อจำกัด เมื่อรถคันหน้าชะลอรถคันหลังก็จะเบียดแซงซ้ายทันที ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้มีเยอะมาก การวิ่งในไหล่ทางบนทางด่วนมักจะเห็นอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะช่วงที่รถติด เราก็จะเห็นรถมาวิ่งบนไหล่ทางจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ในช่วงรถติดก็อาจจะไม่ค่อยอันตรายถ้าในช่วงที่ทำความเร็วได้ก็จะเกิดอันตรายได้

ส่วนกรณีที่คนขับฟอร์จูนเนอร์ บอกว่าขับรถอยู่ดีๆไม่เห็นรถคันหน้าจอดอยู่ไหล่ทางนั้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้เพราะขับรถจี้คันหน้าที่อยู่ในช่องทางปกติ เมื่อคันหน้าชะลอก็จะออกซ้าย ซึ่งมีโอกาสมองไม่เห็นเพราะคนขับนั่งอยู่ในด้านขวา

ในกรณีนี้คนขับรถคันหลังบอกว่าเห็นแล้วแต่คิดว่าคันหน้ายังขับอยู่ ตรงนี้อาจจะมีปัจจัยร่วม เช่น คนขับอยู่ในสภาวะที่มีการละเลย อาจจะใช้โทรศัพท์อยู่ หรือสายตาไม่ได้สนใจรถคันหน้า ทั้งหมดสามารถบ่งชี้ว่าคนขับรถฟอร์จูนเนอร์ ขาดความระมัดระวัง

นพ.ธนะพงศ์  ระบุอีกว่า รถรุ่นนี้เป็นรถที่มีระบบอีดีอาร์ สามารถรู้เลยว่ารถคันนี้วิ่งมาด้วยความเร็วเท่าไหร่ ถ้าพนักงานสอบสวนไปขอดูรายละเอียดจะสามารถรู้ความเร็วก่อนชน และความเร็วที่ชนเท่าไหร่

ส่วนที่ถกเถียงกันว่าเมื่อรถเสียอยู่บนทางด่วนควรจะอยู่ในรถหรือลงจากรถ ถ้าบนทางด่วนที่มีพื้นที่จำกัดการออกมายืนนอกรถถือว่าอันตราย อย่างที่สหรัฐอเมริกาเขาได้วิเคราะห์แล้วว่าการอยู่ในรถจะเซฟกว่า คนขับและผู้โดยสารทุกคนควรคาดเข็มขัดนิรภัย ถ้าเป็นไปได้ควรมีอุปกรณ์มารองที่ต้นคอ เมื่อเวลาเกิดเหตุรถชนจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บกระดูกต้นคอได้ และ ควรมีอุปกรณ์เป็นกรวยสะท้อนแสงติดไว้กับรถ เมื่อรถเสียตอนกลางคืน เอากรวยเรืองแสงมาวางจะเห็นได้ในระยะไกล

ดูคลิปฉบับเต็มได้ที่นี่>>>นักวิชาการ แนะ พก “กรวย – ไฟสัญญาณ – เสื้อสะท้อนแสง” ใช้ยามรถเสีย กันเกิดอุบัติเหตุซ้ำ

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ