ชาวฮ่องกงรายหนึ่งได้ทำการประมูลเห็ดทรัฟเฟิล เห็ดที่ขึ้นชื่อว่า หายากที่สุดในโลก ราคาแพงที่สุดในโลกไปได้ โดยในปีนี้การประมูลปิดไปที่ราคา 85,000 ยูโร หรือราว 3.1 ล้านบาท น้ำหนัก 850 กรัม แต่รู้หรือไม่ว่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ ของไทยค้นพบ “เห็ดทรัฟเฟิลขาวชนิดใหม่ของโลก”
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผย จาก คณะนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมวิจัยเห็ดราขนาดใหญ่ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. สายสมร ลำยอง เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการ ได้เริ่มศึกษาความหลากหลายของเห็ดราขนาดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันก็ร่วม 18 ปี โดยเน้นภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยที่เป็นเห็ดป่าธรรมชาติ
“จนได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลขาวครั้งแรกในประเทศไทยและเป็นชนิดใหม่ของโลก ชื่อว่า Tuber thailandicum (ทู-เบอร์ ไทย-แลนด์-ดิ-คัม) เมื่อปี พ.ศ. 2557 ต่อมาได้ขอกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานชื่อสามัญของเห็ดชนิดดังกล่าว จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า “เห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์” ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา”
นอกจาก “เห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์” ชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบแล้ว ทีมวิจัยยังพบ เห็ดทรัฟเฟิล Tuber lannaense (ทู-เบอร์ ลาน-นา-เอน-เซ่) ซึ่งถือเป็นตัวที่สองของประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2560 ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลขาวอิตาเลี่ยน Tuber magnatum (ทู-เบอร์ แม็ก-นา-ตัม) ซึ่งเป็นชนิดนี้ถือได้ว่ามีราคาแพงที่สุดในโลก ราคาสูงถึง 160,000 บาทต่อกิโลกรัม การค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลทั้งสามชนิดถือว่าเป็นการพบเห็ดทรัฟเฟิลครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนักเห็ดราวิทยาเชื่อมาตลอดว่าเห็ดทรัฟเฟิลสามารถพบได้ในทวีปอเมริกายุโรป และเอเชียในเขตหนาวเท่านั้น ซึ่งจะไม่พบในเขตร้อนอย่างพื้นที่ของประเทศไทย จึงถือว่าเป็นเห็ดทรัฟเฟิลชนิดแรกที่พบอยู่ในภูมิศาสตร์ของเส้นละติจูดที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบจากการรายงานการค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลทั่วโลก
สำหรับเห็ดทรัฟเฟิลเป็นเห็ดที่มีความพิเศษและแตกต่างจากเห็ดที่เรารับประทานกันโดยทั่วไปอย่างเห็ดหอม เห็ดฟาง หรือเห็ดออรินจิ โดยเห็ดเหล่านี้จะเจริญอยู่ตามขอนไม้หรือซากใบไม้ต่างๆ แต่เห็ดทรัฟเฟิลจะเจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน และจะอยู่กับรากต้นไม้บางชนิดเท่านั้น หน้าที่ของเห็ดทั้งสอง กลุ่มนี้ก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือเห็ดชนิดอื่นจะทำหน้าที่ย่อยสลายซาก แต่เห็ดทรัฟเฟิลกลับทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารในดินให้กับพืชที่มันอาศัยอยู่ด้วย และลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของมัน คือ มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ “เห็ดทรัฟเฟิล” เป็นดอกเห็ดที่มีราคาแพงมากที่สุดในโลก ตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดทรัฟเฟิล
การค้นหาเห็ดทรัฟเฟิลตามธรรมชาติจะต้องอาศัยความสามารถในการดมกลิ่นของสัตว์ เช่น สุนัข หมู เพราะมีสารระเหยที่พบในอาหารสัตว์ ซึ่งสามารถกระตุ้นความหิวของสัตว์ได้ ขณะที่เห็ดทรัฟเฟิลที่นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารยุโรปที่มีราคาแพง เช่น เห็ดทรัฟเฟิลดำเพอริกอร์ด [Périgord black truffle; Tuber melanosporum (ทู-เบอร์ มี-ลา-โน-สปอร์-รัม)] เห็ดทรัฟเฟิลขาวอิตาเลียน [Italian white truffle; Tuber magnatum (ทู-เบอร์ แม็ก-นา-ตัม)] เห็ดทรัฟเฟิลฤดูร้อน [Summer truffle; Tuber aestivum (ทู-เบอร์ เอส-ติ-วัม)]
ส่วนเห็ดทรัฟเฟิลขาวอเมริกา [Oregon whitish truffle; Tuber oregonense (ทู-เบอร์ ออ-รี-กอน-เอน-เซ่) และ Tuber gibbosum (ทู-เบอร์ จิบ-บอ-ซัม)] นิยมเก็บและค้าขายในทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา
และทวีปเอเชียเห็ดทรัฟเฟิลดำ Tuber indicum (ทู-เบอร์ อิน-ดิ-คัม) เป็นที่นิยมค้าขายในประเทศจีน ปัจจุบันมีการทดลองค้นคว้าวิจัยและเพาะเลี้ยงเห็ดทรัฟเฟิลกับกล้าไม้เพื่อผลิตดอกเห็ดในเชิงการค้า และประสบความสำเร็จในอิตาลี ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา แต่ยังมีการศึกษาที่น้อยในทวีปเอเชีย
ข้อมูล : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , AFP