คำถามสำคัญของการรวมนักการเมืองหน้าเก่า ประสบการณ์โชกโชนไว้ใต้ร่มเงาพลังประชารัฐ แม้จะย้ำมาตลอดว่า พรรคมีกรอบให้ทุกคนต้องปฎิบัติตาม โดยไม่แตกแถว แต่จะมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหนว่า จะควบคุมคนเหล่านี้ที่ล้วนแล้วแต่ เสือ สิงห์ กระทิง แรด ในทางการเมือง ให้อยู่หมัด โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่ชนะด้วยคะแนนทิ้งขาดคู่แข่งในสนามเลือกตั้ง นี่เป็นมุมมองของคอการเมืองจำนวนไม่น้อยที่วิเคราะห์ปรากฎการณ์ดูดนักการเมืองที่เกิดขึ้น
แต่การอ่านเกมการเมืองนี้แตกต่างจาก เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่แสดงความมั่นใจว่า จะสามารถกำกับดูแลนักการเมืองในพรรคได้ และเมื่อผลคะแนนการเลือกตั้งประกาศอย่างเป็นทางการ ลูกพรรคทั้งหมดจะยิ่งเคารพการจัดการของพรรค มากขึ้น
หากย้อนไปปลายปี 2540 เป็นที่ทราบกันดี ว่า นายชวน หลีกภัย ได้หวนกลับตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลเป็นรอบสอง เพราะพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ใช้ชั้นเชิงทางการเมือง ฉก 13 ส.ส.พรรคประชากรไทย นำทีมโดยนายวัฒนา อัศวเหม ออกจากอ้อมอกนายสมัคร สุนทรเวช ให้มาสนับสนัน นายชวน จนพลิกเกมชนะไปด้วยคะแนน 209 ต่อ 185 เสียง อันเป็นการฝ่าฝืนมติพรรค ที่ลงมติให้ ส.ส.สนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา พรรคร่วมรัฐบาลเดิมของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากพรรคความหวังใหม่ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดตำนาน “งูเห่า”
เหตุการณ์เช่นนี้ เคยเกิดขึ้นอีกครั้ง สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งเคยสังกัดพรรคพลังประชาชนก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค นำกลุ่ม ส.ส.ในสังกัดกว่า 30 คนที่เตรียมหาพรรคใหม่สังกัด ยกมือโหวตให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เอาชนะ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่พรรคพลังประชาชน เดินเกมสู้ในสภาไป
ส่วนในพรรคพลังประชารัฐ จะมี งูเห่า แฝงตัวมาอยู่หรือไม่ ยากที่จะตอบได้ ณ วันนี้ แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มองว่า กติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ วางกลไกไว้อย่างรอบคอบ รัดกุม แม้หลายฝ่ายจะมองว่าอาจมีงูเห่าหลบซ่อนหรือพรางตัวอยู่ แต่ก็ยากที่จะพลิกเกมการเมืองที่ถูกวางไว้ ไปได้
แม้รัฐธรรมนูญ จะไม่ได้กำหนดให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ในคำถามพ่วงก็กำหนดไว้ชัดเจน ว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง จะมีสิทธิ์ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นหมายความว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่มีรัฐสภาชุดแรก หากมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สว.ชุดนี้ก็จะมีสิทธิ์ร่วมลงมติด้วย.
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้