“สภาวะอ่อนนอก-แข็งใน” ทำเงินบาทแข็งค่าในรอบ 5 ปี


โดย Kochaphan Suksujit

เผยแพร่




อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุดตามข้อมูลของแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) อยู่ที่ประมาณ 31.27 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21 ก.พ.62) นับว่าแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี และเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในโลกหากนับตั้งแต่ต้นปี 2561 ซึ่งการแข็งค่า อ่อนค่าของเงินบาทนั้น มีทั้งข้อดี ข้อเสีย โดยเฉพาะกับผู้ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ซึ่งต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนไว้ตลอดเวลา

หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ การแข็งหรืออ่อนตัวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ว่ามันคืออะไร เป็นอย่างไร ก็ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เช่น หากต้องการซื้อกระเป๋าแบรนด์ดังจากสหรัฐอเมริกาสักใบ ราคาใบละ 100 ดอลลาร์ ถ้าค่าเงินแข็งขึ้นแบบปัจจุบันอยู่ที่  31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมอาจจะอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ “เราจะจ่ายเงินค่ากระเป๋า 3,100 บาท น้อยกว่าเดิมที่ต้องจ่าย 3,200 บาท คือ เราจะซื้อกระเป๋าถูกลง”

แต่สำหรับผู้ส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศ อย่าง สหรัฐอเมริกา การที่ค่าเงินแข็งค่า หมายความว่าเมื่อเขา “ได้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯมาแล้ว และแลกกลับเป็นเงินบาท เขาจะได้เงินบาทที่น้อยลง”

ดังนั้น การที่เงินบาทแข็งค่าจึงไม่เป็นผลดีกับผู้ส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวช่วยเศรษฐกิจไทยให้เติบโตตัวหลักตัวหนึ่งเพราะไทยพึ่งพาการส่งออกอยู่ประมาณ 70% ของจีดีพี

แต่อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ในสภาวะที่ “ค่าเงินแข็งค่าจนสูงสุดในรอบ 5 ปี” อาจมีเหตุผลอย่างอื่นที่มากกว่านั้น ตามข้อมูลของ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่มองว่าเป็นสภาวะ “อ่อนนอก แข็งใน”

สภาวะอ่อนนอก ในที่นี่หมายถึง “เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง”

ซึ่งมีจากปัจจัยเสี่ยงที่เร่งตัวขึ้นทั้งสงครามการค้าเริ่มส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก การชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) เพราะหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลง ความไม่แน่นอน

ทางการเมืองในหลายประเทศ เช่น เบร็กซิต (BREXIT) ของอังกฤษ การประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติในสหรัฐฯ จากผลพวงความขัดแย้งเรื่องงบประมาณสร้างกำแพงกั้นสหรัฐฯ กับเม็กซิโก เหตุการณ์ประท้วงในฝรั่งเศสและเวเนซุเอลา เป็นต้น ทำให้ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 “เหลือขยายตัว 3.5% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี” 

“สภาวะแข็งใน คือ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยดึงเงินทุนไหลเข้า”

ซึ่งอาจมีคำถามว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจนเป็นสาเหตุหลักให้เงินทุนไหลเข้าและเงินบาทแข็งค่าจริงหรือ ทั้งๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าใดนัก ดังนั้นต้องมาสาเหตุที่ทำให้ราคาของเงินบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั่นก็คือ  ”ความต้องการเงินบาท” ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเด็น

ความต้องการเงินบาทแท้จริง (อุปสงค์เงินบาทแท้จริง) อย่างการแลกเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกไทย เงินที่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาตินำมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อนำมาลงทุนและใช้จ่ายในไทย แม้เงินทุนไหลเข้าในส่วนนี้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยบางภาคส่วนแข็งแกร่งขึ้น สะท้อนได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลกว่า 7% ต่อจีดีพีแต่...

“เงินส่วนนี้อาจตกไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศเท่าใดนัก ทำให้บางส่วนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ดี” นั่นเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจไทยยืดหยุ่นมากกว่าแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าจากไทยแม้ถูกกระทบจากสงครามการค้าเช่นเดียวกับประเทศอื่น “เราก็ยังมีการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศที่ขยายตัวโดดเด่นเข้ามาช่วยประคับประคองได้ดี”

ความต้องการเงินบาทเทียม (อุปสงค์เงินบาทเทียม) เกิดจากเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดการเงิน ซึ่งเงินทุนเหล่านี้ “ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริงเท่าใดนัก แต่เข้ามาหากำไรระยะสั้นหรือพักเงิน”

เพราะเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก หนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีต่ำไม่ถึง 30% และอัตราเงินเฟ้อต่ำราว 1% ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนในตลาดการเงินเชื่อมั่นและทำให้เงินบาทกลายเป็นแหล่งพักเงินสำคัญของภูมิภาค แม้ว่าอัตราผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ต่ำกว่าหลายประเทศ ซึ่งเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาในลักษณะนี้อาจหวังผลในแง่การรักษามูลค่าของเงินลงทุนมากกว่าจะหาผลตอบแทนในระยะสั้น

สรุปได้ว่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลโดยตรงจากการที่ประเทศไทยมีกิจกรรมเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่ยืดหยุ่นและ เป็นผลพลอยได้จากการที่เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศจึงเป็นเป้าหมายของการเป็นที่พักเงินในยามที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง

ซึ่งถือว่า “เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากและคาดว่ายังมีแนวโน้มผันผวนตลอดทั้งปี”

ดังนั้น ผู้ส่งออกไม่ควรเก็งกำไรค่าเงินในทุกกรณี แต่ควรหันมาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้มากขึ้นและควรใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าในการนำเข้า หรือพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ธุรกิจของตนเอง รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนในอนาคต

เฟด-ทรัมป์กระทบค่าเงินทั่วโลกปั่นป่วน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ