“กล้าพูด-สังคมตระหนัก-รัฐสนับสนุน” ทางแก้เด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว เผยตัวเลขผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศเป็นเด็กและเยาวชนสูงขึ้น พร้อมเสนอทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

แนะวิธีสอนเด็กเล็ก ป้องกันถูกละเมิดทางเพศ

การคุกคามทางเพศ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว จัดงานสัมมนาและทำรายงานเล่มพิเศษ “ปัญหาความรุนแรงทางเพศประจำปี 2562 เมื่อเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ”

สถิติที่น่ากลัว

รายงานนี้รวบรวมข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน อังคนา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลบอกว่า จากการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ 9 หัวตลอดปี 2562 พบข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศถึง 333 ข่าว ซึ่งสูงขึ้นจาก 310 กว่าข่าวของเมื่อปี 2560

จากข่าวทั้ง 333 ข่าวนั้น พบว่ากลุ่มอายุที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุดคือ เด็กอายุ 11-15 ปี คิดเป็นร้อยละ 47.3 รองลงมาคือช่วงอายุ 16-20 ปี ร้อยละ 35.7 อันดับที่ 3 คือช่วงอายุ 6-10 ปี ร้อยละ 4.5 นั่นหมายความว่า คดีความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นและปรากฏเป็นข่าว มีอยู่มากกว่าร้อยละ 80 ที่ผู้ถูกกระทำยังเป็นเพียงเด็กและเยาวชน

นอกจากนี้ ผู้ถูกกระทำที่อายุน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิงวัยเพียง 4 ปี ขณะที่ผู้ถูกกระทำที่อายุมากที่สุดมีอายุ 94 ปี ส่วนในด้านอาชีพ ร้อยละ 84.8 ของผู้ถูกกระทำยังเป็นวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา

ฝั่งผู้กระทำ ช่วงอายุที่ก่อเหตุความรุนแรงทางเพศมากที่สุดคือช่วง 26-30 ปี อย่างไรก็ตาม พบข้อมูลน่าตกใจว่า ผู้กระทำอายุน้อยสุดเป็นเพียงเด็ก 5 ขวบ ส่วนอายุมากที่สุดอยู่ที่ 89 ปี

อังคนายังเสริมว่า ร้อยละ 45.9 ของผู้ก่อเหตุเป็นคนแปลกหน้า แต่อีกร้อยละ 45.6 เป็นคนในใกล้ชิดคุ้นเคยหรือคนในครอบครัว ซึ่งจะพบว่ามีอัตราใกล้เคียงกันมาก ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะสถานที่ที่มีคนใกล้ชิด เช่น บ้าน โรงเรียน ควรเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน

เธอขยายความเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงทางเพศนั้นแยกได้หลายระดับ ตั้งแต่การถูกแอบถ่าย ปล่อยรูป ลวนลาม กระทำอนาจาร ไปจนถึงการข่มขืนรุมโทรม ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากับใคร

ความทรงจำที่ยากลืมเลือน

ด้าน นลินทิพย์ ตู้ทับทิม หรือ หมวยเอิร์น ตัวแทนเยาวชนที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ เล่าว่า เมื่อราว 5 ปีก่อนตอนที่เธออายุเพียง 16 ปีและศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง เธอพบกับประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศที่ไม่ควรเกิดขึ้น

“เขาเคยเล่นผม จับตัว ตอนนั้นเราแค่อึดอัด แต่เราตอนนั้นไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คิดว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นการแสดงความเอ็นดูของครู” เธอเล่าว่า เธอเคยถูกลวนลามหลายครั้ง ทั้งเอามือมาลูบขาตอนขับรถมาส่งที่บ้าน จนใจเบรกรถมอเตอร์ไซค์ให้หน้าอกชนหลัง แกล้งปิดไฟแล้วเข้ามากอด

เธอบอกว่า ที่ตัดสินใจก้าวออกมาเรียกร้องจนเป็นที่พูดถึงในช่วงที่ผ่านมานั้น เพราะเหตุการณืแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเธอคนเดียว ยังคงมีนักเรียนรุ่นน้องโรงเรียนเดียวกันถูกลวนลาม ทั้งจากครูคนเดียวกับที่เคยลวนลามเธอ และครูคนอื่น โดยที่ไม่สามารถเรียกร้องหรือทำอะไรได้ ไม่นับว่า ในโรงเรียนอื่น ๆ อีกทั่วประเทศก็เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันนี้นับครั้งไม่ถ้วน เพียงแต่ไม่เป็นข่าว

“อำนาจ” กดทับ “ความถูกต้อง”

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา มองว่า ปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากอำนาจนิยมในสังคมไทย

เธอบอกว่า “คนที่ถูกละเมิดส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ต่างจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มักเกิดกับวัยทำงาน ทั้งนี้เนื่องจากเด็กไทยถูกสั่งสอนมาว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องพึ่งพาและอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศได้ง่าย”

ดร.วราภรณ์เสริมว่า ปัจจัย 2 ประการที่ทำให้การล่วงละเมิดเด็กและเยาวชนทำได้ง่าย คือ ค่านิยมเรื่องเพศ และความอาวุโส

“สังคมไทยชอบบอกว่าเด็กเป็นเหมือนผ้าขาว มองว่าเด็กดีควรเป็นเด็กที่ไร้เดียงสาโดยเฉพาะเรื่องเพศ ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ไม่ยอมรับว่า ทุกวันนี้มีภัยทางเพศอยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก ครอบครัวและโรงเรียนไม่ยอมบอกหรือสอนให้เด็กเรียนรู้และมีทักษะในการป้องกันตัว เอาแต่พูดลอย ๆ ว่าเด็กต้องรักนวลสงวนตัว”

ส่วนปัจจัยเรื่องความอาวุโสนั้น เนื่องจากสังคมไทยมักนับถือคนที่อาวุโสกว่า มีฐานะสูงกว่า มีอำนาจมากกว่า เมื่อเกิดการล่วงละเมิดทางเพศก็ไม่ปักใจเชื่อว่าผู้มีอาวุโสเหล่านั้นจะทำจริง ๆ และเคลือบการล่วงละเมิดให้เบาลงว่าเป็น “ความเอ็นดู”

“และเมื่อเกิดเรื่อง เด็กก็มักไม่กล้าบอกใคร เพราะมันขัดกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมสอนว่าให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ และกลัวในอำนาจ ในความอาวุโสกว่า หรือถ้าบอก คนในสังคมก็หันมาโทษเหยื่อ ว่าให้ท่า ว่าใจแตก ว่าโกหก เพราะเราให้ค่ากับฐานะของผู้กระทำ เช่น ถ้าบอกว่าครูล่วงละเมิด ญาติคนนี้ล่วงละเมิด คนในครอบครัวมักไม่เชื่อเพราะมองว่าคนมีอาวุโสกว่าแบบนั้นจะทำแบบนี้ทำไม”

“กล้าพูด-สังคมตระหนัก-รัฐสนับสนุน” หนทางแก้ไขความรุนแรงทางเพศ

ธารารัตน์ ปัญญา นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรี บอกว่า ตัวแปรสำคัญ 3 ประการที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ คนต้องกล้าพูด สังคมต้องตระหนัก และรัฐต้องสนับสนุน

คนต้องกล้าพูดคือ เมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่ากับตัวหรือไม่ก็ตาม ต้องไม่กลัวในอำนาจของผู้ที่กระทำ ก้าวข้ามสิ่งที่สังคมชอบอ้างเรื่องชื่อเสียง ความอับอาย แล้วทำในสิ่งที่ถูกต้อง ให้ผู้กระทำผิดได้รับบทลงโทษ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ

“ถ้าโรงเรียนห่วงหน้าตาชื่อเสียง แล้วทำไมไม่ห่วงชีวิตของนักเรียน” หมวยเอินกล่าวจากประสบการณ์ที่ถูกโรงเรียนปฏิเสธที่จะดำเนินการสอบสวน เยียวยา และแก้ไขเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น “สังคมต้องตระหนักได้แล้ว ว่านี่เป็นปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากผู้ถูกกระทำ”

ดร.วราภรณ์บอกว่า ที่ผ่านมาจากข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ผลักดันประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดเลย ตราบใดที่สังคมยังคงวนเวียนอยู่แต่ว่า เมื่อเกิดการล่วงละเมิด ก็ต้องเป็นความผิดของเหยื่อ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ ขณะที่สื่อก็เฝ้าถามเหตุผลของผู้ก่อเหตุซ้ำไปวนมาอยู่อย่างนั้น

“ไม่ว่าจะอ้างเรื่องความต้องการ เรื่องความเครียด หรือเหตุผลสารพัด มันก็เป็นเพียงข้ออ้าง ไม่ใช่เหตุผลที่ชอบธรรมว่าคุณสามารถล่วงละเมิดผู้อื่นได้”

ดังนั้น สังคมจึงต้องตระหนักว่า ความรุนแรงทางเพศ ไม่ได้เป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ แต่เกิดจากอำนาจของผู้กระทำที่กดทับ สังคมต้องตระหนักได้แล้วว่า การที่โรงเรียนหรือองค์กรใดปกปิดความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องผิดปกติ สังคมต้องตระหนักได้แล้วว่า ไม่มีความรุนแรงทางเพศใดในโลกที่ถูกต้องชอบธรรม และรัฐต้องมีหน้าที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้วย

ธารารัตน์ บอกว่า เธอเคยมีประสบการณ์ถูกลวนลามในสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แล้วต้องการร้องเรียน แต่เจอความยุ่งยากของกระบวนการ

“อยากให้การร้องเรียนเมื่อเจอความรุนแรงทางเพศมันเป็นเรื่องปกติในสังคม และกระบวนการต้องง่ายด้วย หากทำให้กระบวนการยาก หรือล่าช้า อาจทำให้คนไม่อยากร้องเรียนเพราะมองว่าเสียเวลา”

โดยเมื่อเกิดการล่วงละเมิด สถาบันต่าง ๆ ที่เกิดเหตุ ต้องสอบสวนโดยทันที ตีแผ่ความจริงให้กระจ่าง และมอบบทลงโทษที่ทำให้หลาบจำ และหากเกิดเหตุรุนแรงกว่านั้น เช่น การข่มขืน เจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องสนับสนุน พาผู้ถูกกระทำส่งโรงพยาบาล ตรวจสภาพร่างกายและจิตใจ ไม่ผลักภาระให้ผู้ถูกกระทำต้องวิ่งเต้นหาหลักฐานเอาเอง เพราะนี่คือหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องบรรเทาทุกข์ให้ประชาชน

หมวยเอินเสริมว่า “รัฐยังสามารถสนับสนุนด้วยการสร้างองค์ความรู้ทางเพศที่ถูกต้อง สร้างหลักสูตรเรื่องสิทธิทางเพศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนรับมือในสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศได้อย่างถูกต้อง”

เธอบอกว่า “การป้องกันตัวเองมันก็ดี แต่มันก็ต้องป้องกันฝั่งผู้กระทำด้วย เราต้องรู้ว่าเขาทำอย่างนี้กับเราไม่ได้ และเขาก็ต้องได้รับความรู้ที่ถูกต้องว่าเขาทำอย่างนี้กับเราไม่ได้เช่นกัน”

วันใดที่คนกล้าพูด สังคมตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และรัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนที่เพียงพอ ปัญหาความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ก็คงสิ้นสุดลงได้ อาจต้องใช้เวลา แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่คุ้มค่า

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ