"ชวน" เตือนใจทุกฝ่าย ทำผิด ย้อนกลับมาได้ "บิ๊กป้อม" ให้การบ้านตำรวจ ชี้ยังไม่ต้องใช้ทหาร
นายกฯเสียใจตำรวจควบคุมฝูงชนเสียชีวิต
ม็อบ28กุมภา ปะทะเดือดแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ฉี่รด จับตัวคุมตชด. ป่วนเผารถหน้าสน. "คฝ."ช็อกดับ!
ยูเอ็นเผย ม็อบเมียนมา 28 ก.พ. มีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย
การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกลายเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ในหลายประเทศในปัจจุบัน ตั้งแต่เหตุการณ์ประท้วง Black Lives Matter ที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2020 หรือเร็ว ๆ นี้ที่ใกล้มากอย่างเมียนมาและไทย ก็เกิดเหตุสลายการชุมนุมที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย
นิวมีเดีย พีพีทีวี เปิดเอกสาร ประมวลจรรยาบรรณสากลผู้บังคับใช้กฎหมาย ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (OHCHR) องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ซึ่งรับรองโดยมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 34/169 วันที่ 17 ธันวาคม 1979 เพื่อสำรวจว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน ได้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณสากลเหล่านี้หรือไม่
มาตรา 1
“เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้บริการสังคมและปกป้องบุคคลทั้งหมดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับความรับผิดชอบระดับสูงที่กำหนดโดยวิชาชีพของตน”
โดย “เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย” หมายถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ว่าจะได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับเลือก ซึ่งใช้อำนาจของตำรวจ โดยเฉพาะอำนาจในการจับกุมหรือควบคุมตัว
ในประเทศที่เจ้าหน้าที่ทหาร หรือโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐ ใช้อำนาจตำรวจ คำจำกัดความของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะนับรวมเจ้าหน้าที่ของหน่วยบริการดังกล่าวนี้ด้วย
มาตรา 2
“ในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องเคารพและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และรักษาสิทธิมนุษยชนของทุกคน”
โดยทั่วไป สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี, ปฏิญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ, อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ, อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามและการลงโทษอาชญากรรมการแบ่งแยกสีผิว, อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, กฎขั้นต่ำมาตรฐานสำหรับการปฏิบัติต่อนักโทษและอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล
มาตรา 3
“เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอาจใช้กำลังเมื่อจำเป็นเท่านั้น”
การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายควรเป็นเรื่องพิเศษ ไม่ใช่เรื่องที่ปฏิบัติจนเป้นปกติ มีนัยว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอาจได้รับอนุญาตให้ใช้กำลังตามความจำเป็นตามสมควรภายใต้สถานการณ์ เพื่อป้องกันอาชญากรรม หรือในการดำเนินการ หรือช่วยเหลือในการจับกุมผู้กระทำความผิด หรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิด โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จะไม่มีการใช้กำลังใดนอกเหนือไปจากนั้น
การใช้อาวุธปืนถือเป็นมาตรการที่รุนแรง เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทั่วโลกควรพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้มีการใช้อาวุธปืน โดยเฉพาะกับเด็ก โดยทั่วไปไม่ควรใช้อาวุธปืนยกเว้นในกรณีที่ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดต่อต้านด้วยอาวุธหรือกระทำการเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้อื่น และมาตรการที่รุนแรงน้อยกว่านั้นไม่เพียงพอที่จะยับยั้งหรือจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด
มาตรา 4
“เรื่องที่เป็นข้อมูลลับในความครอบครองของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องถูกเก็บไว้เป็นความลับ เว้นแต่การปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นความต้องการของกระบวนการยุติธรรม”
ตามลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอาจได้รับข้อมูลที่อาจเกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัว หรืออาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียงของผู้อื่น ควรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการปกป้องข้อมูลดังกล่าว และข้อมูลดังกล่าวควรเปิดเผยเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่หรือตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น การเปิดเผยข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
มาตรา 5
“ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกระทำการยุยงปลุกปั่นหรือยอมให้มีการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และไม่อาจอ้างคำสั่งหรือสถานการณ์พิเศษ เช่น สภาวะสงคราม ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ความไม่มั่นคงทางการเมือง หรือเหตุฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด มาเป็นเหตุผลของการทรมานหรือการปฏิบัติลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม”
ข้อห้ามนี้มาจากประกาศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี
โดยสหประชาชาติระบุไวว่า “การทรมาน หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ โดยเจตนากระทำ หรือจากการยุยงของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อบุคคลเพื่อจุดประสงค์ เช่น การได้รับข้อมูลจากเขา หรือบุคคลที่สาม หรือคำสารภาพ เป็นการลงโทษสำหรับการกระทำที่ได้กระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ หรือข่มขู่ตัวเขาหรือบุคคลอื่น”
มาตรา 6
“เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องประกันสุขภาพของบุคคลที่อยู่ในความดูแลของตนอย่างเต็มที่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องดำเนินการทันทีเพื่อให้เขาได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อจำเป็น”
“การรักษาพยาบาล” หมายถึง บริการที่ดำเนินโดยบุคลากรทางการแพทย์ใด ๆ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง และแพทย์จะต้องทำการรักษาได้อย่างปลอดภัยเมื่อจำเป็นหรือได้รับการร้องขอ
เป็นที่เข้าใจกันโดยสากลว่า ว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องให้ผู้ที่ละเมิดกฎหมาย หรือประสบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมาย ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่และทันท่วงที
มาตรา 7
“เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องไม่กระทำการทุจริต และต้องต่อต้านการกระทำดังกล่าวทั้งหมดอย่างเข้มงวด”
การกระทำใด ๆ ที่เป็นการทุจริต เช่นเดียวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบอื่นใด ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิชาชีพของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย จะต้องมีการรายงานและรับโทษตามกฎหมายอย่างเต็มที่
หากรัฐบาลหรือผู้บังคับใช้กฎหมายไม่สามารถหรือเลือกไม่บังคับใช้กฎหมายกับตัวแทนของตนเองและภายในหน่วยงานของตน ก็หมายความว่า สังคมไม่สามารถคาดหวังว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายในหมู่พลเมืองของตนได้เช่นกัน
มาตรา 8
“เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องเคารพกฎหมาย นอกจากนี้ยังต้องป้องกันและต่อต้านการละเมิดใด ๆ อย่างสุดความสามารถ”
โดยจะต้องมีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ถูกต้องตามจรรยาบรรณและกฎหมายหรือไม่ และหากมีผู้พบเห็น ไม่ว่าจะบุคคลภายนอกหรือบุคคลในหน่วยงาน เขาเหล่านั้นจะต้องไม่ได้รับโทษใด ๆ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ควรต้องมีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหรือหน่วยงานอิสระ ที่มีอำนาจในการตรวจสอบจรรยาบรรณ ในบางประเทศ “สื่อมวลชน” ทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดจรรยาบรรณ และรายงานให้สังคมรับทราบ เพื่อกดดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องเหมาะสม
สหประชาชาติระบุไว้ว่า “เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของหลักจรรยาบรรณนี้ สมควรได้รับความเคารพและการสนับสนุนอย่างเต็มที่”
เรียบเรียงจาก OHCHR
ภาพจาก AFP