• โรคขาดความเมตตา หรือ Compassion Deficit Disorder (CDD) เป็นคำที่ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาการเด็กจากวีล็อคคอลเลจบอสตัน ใช้เรียกลักษณะอาการของเด็กในสังคมปัจจุบันที่มีภาวะขาดความเห็นอกเห็นใจ ไม่รู้สึกรู้สา หรือคำนึงถึงความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้อื่นเมื่อกระทำการใดๆ ลงไป ทั้งมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงหรือการข่มขู่บีบคั้นเพื่อให้ได้ตามต้องการ
• วัฒนธรรมการสื่อสารด้วยตัวอักษรผ่านหน้าจอ คอมเมนต์ดุดันในโซเชียลมีเดีย การบูลลี่ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จากมาตรฐานความเพอร์เฟคที่สังคมสร้างให้ เหล่านี้คือปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดจากเทคโนโลยีอันมีผลให้จิตใจเหี่ยวเฉาลง
• ชวนสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เด็กเป็นโรคขาดความเมตตา ผ่านการสร้างสิ่งแวดล้อมที่รวมไว้ในบทความนี้
ภัยเงียบ! ความเครียดของเด็ก ที่ผู้ใหญ่ไม่เคยรู้!
คนในบ้านสูบบุหรี่ !! มีผล "เด็ก" หอบเฉียบพลัน
เมื่อปีที่แล้วมีข่าวน่าเศร้าเกี่ยวกับการจากไปของนักมวยปล้ำหญิงชาวญี่ปุ่น ฮานะ คิมูระ วัย 22 ปี ซึ่งต้นสังกัดออกมายืนยันว่าเสียชีวิตโดยไม่ระบุสาเหตุแน่ชัด แต่สื่อคาดว่าน่าจะเป็นการ “Bullycide” (Bully and Suicide การฆ่าตัวตายจากการถูกกดดันกลั่นแกล้ง) เมื่อไล่ย้อนดูข้อความที่ฮานะโพสต์ก่อนเสียชีวิตระหว่างเข้าร่วมเรียลลิตี้ Terrace House Tokyo รายการที่นำชายหญิงมาอาศัยอยู่ร่วมกันเพื่อถ่ายทอดความเป็นอยู่ให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมกับวิถีชีวิตของแต่ละคน พบว่ามีคอมเมนท์ที่ทำร้ายจิตใจเธออย่างรุนแรงเป็นจำนวนมาก ทั้งวิจารณ์รูปร่างหน้าตา และต่อว่าแบบสาดเสียเทเสียเมื่อเธอไม่ได้เป็นหรือทำตามที่ผู้ชมคาดหวัง หนักเข้าถึงกับไล่ให้เธอไปตายซะเพราะทนขยะแขยงไม่ไหว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ความไม่แยแสต่อความเจ็บปวดของผู้อื่น หรือแม้กระทั่งการนิยมชมชอบเวลาเห็นผู้อื่นเปราะบางเป็นทุกข์นำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กสาวอย่างฮานะ เช่นเดียวกับที่เราอาจสูญเสียญาติมิตร เพื่อน บุคคลอันเป็นที่รักหรือใครสักคนให้กับความด้านชาไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจและยึดเอาตนเองเป็นที่ตั้งในการวัดประเมินคุณค่า บดขยี้ความมั่นใจคนอื่นแลกกับความสนุกสนานสะใจในวันใดวันหนึ่งอีก
นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่ปัจจุบันถูกศึกษาและถึงกับระบุให้เป็นโรคหนึ่งเลยทีเดียว
โรคขาดความเมตตา – โรคยอดฮิตของเด็กยุคไซเบอร์
พฤติกรรมบูลลี่เป็นอาการหนึ่งของ โรคขาดความเมตตา หรือ Compassion Deficit Disorder (CDD) เป็นคำที่อาจารย์ไดแอน เลวิน (Dianne Levin) ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาการเด็กและศึกษาปัจจัยที่ส่งผลถึงพฤติกรรมต่อต้านเป็นภัยกับสังคมจากวีล็อคคอลเลจบอสตัน ใช้เรียกลักษณะอาการของเด็กในสังคมปัจจุบันที่มีภาวะขาดความเห็นอกเห็นใจ ไม่รู้สึกรู้สาหรือคำนึงถึงความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้อื่นเมื่อกระทำการใดๆลงไป ทั้งมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงหรือการข่มขู่บีบคั้นเพื่อให้ได้ตามต้องการ
หากเปิดสื่อต่างๆ ดูจะพบว่าเทรนด์การบูลลี่ทั้งร่างกายและจิตใจกำลังลุกลามอย่างยากจะหยุดยั้งในสังคมออนไลน์และออฟไลน์ รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าอัตราการกลั่นแกล้งในเยาวชนไทยปี 2561 สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จากการสำรวจเด็กจำนวน 1,000 คนพบว่ามีเด็กเคยถูกบูลลี่ทั้งทางกายและใจจำนวนสูงถึง 92 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้าต้องเข้ารับการรักษาถึง 13 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลจาก thethaiger.com)
เห็นได้ชัดว่าไม่เพียงบ้านเรา แต่เด็กทั่วโลกกำลังป่วยด้วยโรคนี้ โดยอาจเคยเป็นเหยื่อที่ถูกบูลลี่แล้วกลายมาเป็นผู้กระทำซะเอง
อาจารย์เลวินมองว่าโรคขาดความเมตตาของคนในห้วงเวลานี้ปะทุขึ้นจากอิทธิพลของเทคโนโลยีและสื่อโซเชียลที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะการให้เด็กเข้าถึงสื่อพวกนี้เร็วเกินไปตั้งแต่อายุยังน้อยและสัดส่วนการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนจริงๆ น้อยเกินไป
ซึ่งเธอสรุปไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1. เด็กแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีและใกล้ชิดกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ยังเล็กมากขึ้น แท็บเล็ต มือถือและเกมส์ที่ดึงให้เด็กอยู่ติดกับหน้าจอนานๆ ฉกฉวยโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้พัฒนาการทางสังคมตามช่วงวัยและการรับ-ส่งอารมณ์ความรู้สึกกับผู้อื่น
มีการลองเปรียบเทียบวิธีปลอบโยนเด็กเล็ก 2 แบบ แบบแรกให้พ่อแม่ปลอบโยนลูกเมื่อร้องโยเยด้วยการอุ้มและสบตาพูดคุย กับแบบที่สอง พ่อแม่กดโมบายของเล่นไฟกะพริบและส่งเสียงเพลงออกมาเมื่อเด็กร้อง เด็กที่ถูกเลี้ยงในแบบแรกจะได้รับประสบการณ์การรับ-ส่งอารมณ์ความรู้สึกกับมนุษย์จริงๆ อันเป็นก้าวแรกของการสร้างสัมพันธ์และพัฒนาด้านจิตใจ ในขณะที่แบบที่สองเด็กถูกเบี่ยงเบนความรู้สึกไปที่แสงสีเสียงจากของเล่น นอกจากจะไม่ได้สัมผัสความรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นจากอ้อมกอดอันเป็นพื้นฐานแรกสุดของพัฒนาการด้านจิตใจอารมณ์และพฤติกรรมแล้ว ยังขาดการเข้าถึงอารมณ์ตัวเองและไม่รู้วิธีปฏิสัมพันธ์ด้วย
2. โซเชียลมีเดียที่เปิดกว้างนำเสนอต้นแบบพฤติกรรมที่เด็กอาจยังไม่มีวิจารณญาณพอจะแยกแยะความเหมาะสม ภาพลามก การพนัน ความรุนแรงและยาเสพติดเข้าถึงได้โดยง่าย อีกทั้งแอปพลิเคชั่นยอดฮิตมากมายที่สร้างวัฒนธรรมการเลียนแบบ ขายความดึงดูดน่าสนใจเพื่อยอดผู้ติดตามและเรียกไลค์ ทั้งหมดนี้บ่มเพาะให้เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะตัดสินคนอื่นอยู่ตลอดเวลา และการสื่อสารที่ฉาบฉวยบนโลกไซเบอร์ทำให้เขาเข้าถึงจิตใจคนอื่นน้อยลง
3. ของเล่นที่วางตลาดในปัจจุบันขายภาพจำลองจากหน้าจอมากกว่าส่งเสริมทักษะทางสังคมและการแก้ปัญหา ความนิยมของการ์ตูนฮีโร่รวมพลัง เจ้าหญิงเกล็ดน้ำแข็งกำลังครองโลก แน่ละว่าของเล่นที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าก็ยกขบวนกันออกมาเพื่อให้เด็กๆ ได้ออกท่าทางเลียนแบบตัวการ์ตูนที่พวกเขาชื่นชอบ จนน่าเสียดายว่าการเล่นที่ฝึกกระบวนการแก้ปัญหา ฝึกทักษะการวางแผนและความร่วมมือร่วมใจกันกำลังได้รับความสนใจน้อยลง
4. รูปแบบสังคมที่ผู้ใหญ่ทำงานตลอดเวลาและเต็มไปด้วยความเครียดพึ่งพาหน้าจอให้เป็นเพื่อนลูก ผู้ปกครองบางคนเองก็เอาแต่ก้มดูหน้าจอกันเป็นส่วนมาก เด็กๆ จึงอยู่กับหน้าจอไอแพดที่เปิดเกมส์หรือการ์ตูนไว้เป็นเพื่อนตลอดเวลา ทักษะการสื่อสารด้านอารมณ์และการเข้าสังคมถดถอยไปจนถูกครอบงำด้วยสารซึ่งอาจไม่เหมาะสมที่ส่งมากับคอนเทนต์เหล่านั้นด้วย
5. พ่อแม่กำหนดตารางชีวิตให้เด็กเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาพรสวรรค์ เรียนพิเศษเสริมทักษะหรือแม้แต่ให้พวกเขาทำกิจกรรมสนุกๆ สักอย่าง ผู้ใหญ่ (ที่มีความพร้อม) ก็มักเป็นฝ่ายเลือกและจัดวางตารางกิจกรรมให้เด็กดำเนินตามที่จัดไว้เสมอๆ ข้อดีของการได้ทำกิจกรรมหลากหลายก็มีอยู่ แต่อีกด้านการกำหนดควบคุมกิจวัตรและตารางกิจกรรมให้หมดก็เท่ากับเด็กขาดโอกาสได้ค้นหา เลือกและเรียนรู้ที่จะวางแผนจัดการตัวเองอย่างไร อีกทั้งยังพลาดการแสดงความรับผิดชอบต่อความคิดและการตัดสินใจของตนเองด้วยอีกทางหนึ่ง
ทำความเข้าใจกันใหม่ “อ่อนแอก็แพ้ไป” ไม่ใช่ทฤษฎีการอยู่รอดของมนุษย์
รองศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ โกเอทส์ (Jennifer Goetz) หัวหน้าภาคจิตวิทยามหาวิทยาลัยเซ็นเตอร์ อธิบายที่มาที่ไปของความเมตตา (Compassion) ไว้ในงานศึกษาของเธอว่า ความเมตตาคือแรงขับธรรมชาติด้านอารมณ์ที่มนุษย์แสดงรูปแบบต่างกัน มีสภาวะคล้ายคลึงกับความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ซึ่งเป็นการรู้สึกร่วมไปกับผู้ที่เดือดร้อนเป็นทุกข์แล้วแสดงความช่วยเหลือคลี่คลายความทุกข์ร้อนนั้น ซึ่งนี่เป็นคุณลักษณะจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตร่วมกันของมนุษย์
ในหนังสือ Descent of Man, and Selection in Relation to Sex ของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน บิดาแห่งชีววิทยาที่มากับทฤษฎีธรรมชาติคัดสรรก้องโลกก็ยังมีคำกล่าวว่า “สังคมใดที่สมาชิกต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สังคมนั้นจึงจะเจริญรุดหน้าและอยู่รอด” ซึ่งดาร์วินมองจากความเชื่อว่า ความเมตตาเป็นสิ่งจรรโลงสังคมและยกระดับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับทัศนคติ “คนที่แข็งแกร่งกว่าจึงจะอยู่รอด” ที่คนจำนวนมากอ้างเป็นหลักคัดสรรทางธรรมชาติของเขาซึ่งกล่าวถึงวิวัฒนาการทางสรีระและพันธุกรรมเพื่อปรับตัวอยู่รอดตามสภาพแวดล้อมไปในทางรับรองความชอบธรรมของการข่มเหงหรือเพิกเฉยที่จะช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่าทางพละกำลัง สถานะและสติปัญญา
นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องทบทวนคติแนว “อ่อนแอก็แพ้ไป” เสียใหม่ อาจเพราะเรากำลังถูกกระตุ้นให้แข่งขันกันตลอดเวลา ขนาดต้องแย่งกันเข้าโรงเรียนตั้งแต่ยังเล็ก และยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเมื่อโซเชียลหยิบยื่นวัฒนธรรมบูชาความเพอร์เฟคใส่หัวเราทุกนาที เหล่านี้ผลักให้เราประเมินตัดสินว่าใครดีกว่ากัน ไม่ว่าเด็กและผู้ใหญ่ต่างเริ่มรู้สึกเฉยๆ กับการศัลยกรรม ยอมเป็นหนี้เพื่อมีของที่ “ไม่มีไม่ได้แล้ว” และต้องดีพร้อมอยู่ตลอดเวลาให้สมกับที่โลกโซเชียลมอบบทบาทให้เราเป็นทั้งผู้มีอำนาจตัดสินและถูกตัดสิน และยิ่งดูเหมือนว่าพยายามดีพร้อมเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวและถอยห่างจากความเมตตามากขึ้นเท่านั้น
วัฒนธรรมการสื่อสารผ่านตัวหนังสือ ความเมตตาบนสื่อโซเชียล เรื่องจำเป็นที่ต้องสอน
ที่ผ่านมาเราไม่อาจบอกสิ่งที่คิด ปฏิเสธความผิด แก้ต่าง ก่นด่าฟ้าดินหรือต่อว่าต่อขานใครสักคนได้ง่ายๆ และเสรีอย่างที่โลกโซเชียลให้เราทำได้ในตอนนี้ เมื่อสื่อในมือมีช่องว่างให้เราเติมคอมเมนท์ Facebook ก็ถามเราทุกทีที่เปิดเข้าไปว่า What’s on your mind? มันจึงง่ายดายเหลือเกินกับการพิมพ์สิ่งที่ใจคิดลงไปโดยไม่ต้องสนว่ามันจะทำร้ายใครต่อใครในเมื่อเราไม่ได้เจอกันซึ่งหน้า บริบท Role Model ที่เด็กซึมซับและพัฒนาความเมตตาตามผู้ใหญ่ต้นแบบกำลังเปลี่ยนไป เด็กยุคนี้อาจไม่เคยสัมผัสลึกซึ้งกับความเมตตามากเท่ากับเห็นเป็นคอนเทนต์ผ่านตาในหน้าจอและเรียนรู้การเอาใจเขามาใส่ใจเราน้อยลงจากวัฒนธรรมการสื่อสารผ่านตัวหนังสือ
ใน Three ways to teach kids to find compassion and empathy behind the screen บน The Washington Post เคที เฮอร์ลีย์ (Katie Hurley) ผู้เขียนเป็นนักจิตบำบัดเด็ก บอกเล่าวิธีที่เธอใช้ปลุกสำนึกเมตตาจิตในการใช้สื่อโซเชียลของลูกๆ ให้หันมาใส่ใจความรู้สึกที่ถูกสื่อผ่านตัวหนังสือ โดยสอนให้พวกเขาร่างสิ่งที่ตั้งใจจะโพสต์ลงโน้ตก่อนเสมอเพื่อฝึกให้ฉุกคิดใคร่ครวญให้ถี่ถ้วนก่อนจะโพสต์สิ่งใดก็ตามที่จะคงอยู่ตลอดไป และเพื่อให้เขาเข้าใจว่าสารและทุกข้อความที่พิมพ์โต้ตอบผ่านแชทสร้างอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรบ้าง เธอจะลองอ่านออกเสียงบทสนทนาที่พวกลูกๆ เขียนโต้ตอบกับเพื่อนๆ ออกมาให้เขาฟังดังๆ ซึ่งบางประโยคอ่านแล้วตีความได้ต่างกัน บางทีเป็นความโกรธ ความกังวลหรือความอับอาย เฮอร์ลีย์เล่าว่า เวลาพวกเขารู้ตัวว่าข้อความนั้นสร้างความเจ็บปวดได้ เมื่ออ่านออกเสียงเด็กๆ จะใช้ความพยายามมากกว่าปกติ
สำคัญที่สุด การให้เด็กที่ยังอายุน้อยเล่นโทรศัพท์มือถือ แท็บเลตและสื่อโซเชียลด้วยตัวเองเร็วเกินไปยังเป็นเรื่องไม่แนะนำ และไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดผู้ใหญ่ยังต้องให้เวลาใกล้ชิดเอาใจใส่ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ต้องหมั่นสังเกตและติดตามการใช้สื่อโซเชียลของเขาได้
โดยไม่ลืมว่าอย่างไรแล้วแบบอย่างสำคัญที่เด็กๆ จะสัมผัสเข้าถึงและซึมซับความรักความเมตตาได้โดยตรงคือการมีผู้ใหญ่คอยให้กำลังใตอยู่เคียงข้าง ให้คำปรึกษาและรับฟังยามเขามีปัญหาอย่างเข้าอกเข้าใจ ที่สุดแล้วการปลูกฝังสิ่งสวยงามให้เบ่งบานขึ้นในใจเด็กๆได้แม้เล็กน้อยเท่าไรก็คงทำให้ผู้คนดีต่อกันขึ้นอีกนิด แล้วโลกก็คงจะน่าอยู่ขึ้นอีกหน่อย
อ้างอิง
Compassion Deficit Disorder
Three ways to teach kids to find compassion and empathy behind the screen.
How Can We Best Teach Kids Compassion in Education?
ขอบคุณข้อมูลจาก The Potential มูลนิธิสยามกัมมาจล