เปิดใจทีม Jitasa.care ผู้สร้างปุ่ม SOS บนแผนที่ดิจิทัลช่วยคนติดโควิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รู้จักทีมนักพัฒนา Jitasa.care สร้างปุ่มขอความช่วยเหลือบนแผนที่ดิจิทัล ผนึกกำลังจิตอาสาช่วยผู้ป่วยโควิดได้ทันท่วงที

แผนที่ดิจิทัลที่ปรากฏจุดแดงๆ เต็มพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่หลายคนแชร์กันแบบไวรัลเต็มหน้าฟีดโซเชียลมีเดียเมื่อราวๆ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่จริงแล้ว เป็นเครื่องหมายของการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือ SOS ผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Jitasa.care หรือ จิตอาสาดูแลไทย ที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มนักพัฒนาไทย ที่นำเอาแผนที่ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลาง ในการติดต่อระหว่างคนที่ต้องการความช่วยเหลือ กับ อาสาสมัครที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤต

แกะรอยเช็กอิน “จิตอาสาแคร์” ชี้เป้าผู้ป่วยโควิด-19

รวมให้แล้ว ช่องทางประสานหาเตียง และรถพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโควิด 19

วิว วสันชัย วงศ์สันติวัฒน์ ตัวแทนทีม Jitasa.care ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และการปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ ทำงานด้านปฏิบัติการการบินและอวกาศ เล่าให้ทีมข่าว PPTV Online ฟังว่า เขาร่วมทีมกับนักพัฒนา 4-5 คน สร้างแพลตฟอร์ม Jitasa.care ในฐานะจิตอาสาที่อยากช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากวิกฤตโควิดในครั้งนี้ ทีมงานทุกคนมีงานประจำอยู่แล้ว แต่อาสามาช่วย โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน สิ่งที่พวกเขาลงทุน ก็คือ แรงกายและใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะนักพัฒนาและโปรแกรมเมอร์พัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมา

“เราอยากให้คนไทยช่วยคนไทยด้วยกันเอง โดยใช้แผนที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างคนที่ต้องการความช่วยเหลือ กับคนที่อยากช่วย นั่นคือวิธีการทำงานของจิตอาสาดูแลไทย”

จิตอาสาดูแลไทยเริ่มพัฒนาเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนและเริ่มแอคทีฟจริงเมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นของการทำแผนที่ดิจิทัล เริ่มต้นจากความต้องการหาวัดจัดการกับศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19ได้ เนื่องจากมองเห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และ จำนวนวัดที่จัดการศพโควิด เผาศพได้ จำกัดจึงรวมกลุ่มกันทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้การหาวัดทำได้ง่าย โดยเริ่มจากสิ่งที่ถนัด คือ พัฒนาแผนที่ดิจิทัล ที่สามารถบอกได้ว่า หมุดหมายได้ว่า วัดไหนยังสามารถรับจัดการศพผู้เสียชีวิตได้

เมื่อภารกิจของทีมถูกเผยแพร่ผ่านไวรัลจากแฟนเพจของ “หมอแล็บแพนด้า” “จิตอาสาดูแลไทย” หรือ Jitasa.care ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือมากมาย เพียงหนึ่งสัปดาห์ มีเคสมาปักหมุดขอความช่วยเหลือกว่า 5,800 เคสมีอาสาสมัครมาช่วยเหลือจนสำเร็จแล้ว 988 เคส และมีเคสที่กำลังช่วยเหลืออีก 1,088 เคส

การทำงานของแพลตฟอร์ม “จิตอาสาดูแลไทย” เริ่มต้นจากผู้ต้องการความช่วยเหลือกดเข้ามาในแพลตฟอร์มและกดปุ่มขอความช่วยเหลือ จากนั้นอาสาสมัครที่อยู่ในแพลตฟอร์ม มองเห็นสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือกระพริบอยู่ก็จะเข้าไปกดตอบรับและหาทางช่วยเหลือและเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด  “ความช่วยเหลือ ที่ขอมาส่วนใหญ่มีทั้งต้องการเตียง ต้องการหาที่ตรวจโควิด ต้องการอาหาร ต้องการออกซิเจน ซึ่งหลากหลายมาก ซึ่งความช่วยเหลือส่งต่อได้เร็ว เพราะจิตอาสาที่คอยให้ความช่วยเหลือสามารถแมทซ์ กับคนที่ต้องการได้เร็ว เรียกว่า เอาคนที่อยากช่วยเหลือ มาเจอกับคนที่ขอความช่วยเหลือ”

 

เปิดใจทีม Jitasa.care ผู้สร้างปุ่ม SOS บนแผนที่ดิจิทัลช่วยคนติดโควิด

 

วิธีคิดของแพลตฟอร์ม นี้ คือ

1.แบ่งปันข้อมูล ที่ผ่านมาวัดไม่มีการอัพเดทข้อมูลว่าเต็มแล้ว หรือ จุดฉีดวัคซีนซึ่งเต็มแล้ว แนวคิด คือ ทำยังไงให้คนช่วยกันอัพเดทข้อมูลได้ ให้ทุกคนอาสาสมัครเข้ามาแจ้งข้อมูลได้ว่าเต็มแล้ว เช่น คนที่จะออกมาตรวจโควิด หรือ ฉีดวัคซีน เมื่อรู้ว่าจุดไหนเต็ม คนที่กำลังจะออกจากบ้านก็รู้ว่า ควรจะออกหรือไม่ออก

2.แบ่งปันความช่วยเหลือ จะทำยังไงให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนป่วย รับผิดชอบตัวเอง คือ ไม่ออกไปไหน เช่น ไม่มีอาหาร หรือ ไม่มีรถไปส่ง เรามีโหมดปักหมุด sos ให้คนกดขอความช่วยเหลือ

“พระเอกของงานนี้ทั้งหมด คือ อาสาสมัคร ถามว่าทำไมเรามีข้อมูลเยอะ เพราะเราได้จากอาสาสมัคร อัพเดทเรื่อยๆ ทำให้ข้อมูลมีความใหม่ ความสด ตอนแรกที่เราทำ ก็ไม่ได้จำกัดว่า sos มีหน้าตาแบบเดียว เท่าที่เห็นจากการใช้งาน อาจจะต้องแยก เป็นประเภทความช่วยเหลือที่ต้องการ”

ปัจจุบัน Jitasa.care มีอาสาสมัคร 8 พันคน เป็นอาสาสมัครอิสระ ที่พยายามหาจุดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนของเขา มี Open chat ให้อาสาสมัครช่วยติดต่อประสานงานและให้คำปรึกษากันเองภายในกลุ่มว่าควรช่วยเหลืออย่างไร พร้อมรายงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือ ใน 1 วันมีคนเข้ามาติดตาม 2 ล้านวิว และ ทุกๆ วินาทีจะมีคนเข้ามา 2 หมื่นวิว โดยแบ่งอาสาสมัครเป็นประเภทได้ง่ายๆ ดังนี้

1.อาสาสมัครข้อมูล คือ อาสาที่รวบรวมข้อมูลรอบๆ เช่น โรงพยาบาลไหนยังรับคนไข้อยู่ เพราะหลายโรงพยาบาลไม่รับผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว

2.อาสาสมัครติดต่อ รับหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้ป่วยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยให้ข้อมูล ช่วยประสานให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงโรงพยาบาล

3.อาสาพาไป อาจจะมีรถ ที่ช่วยส่งยา ส่งอาหาร ส่งน้ำ บางครั้งอาสากลุ่มนี้เจอหมุดที่มีคนตกงาน มีเงินเหลือ 200 บาท ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก คนในคอมมูนิตี้ ก็ช่วยกันเอง

4.อาสากลุ่มแพทย์ เมื่อในระบบแจ้งว่ามีผู้ป่วย จะมีทีมแพทย์อาสาโทรไปให้คำปรึกษา

วิวบอกด้วยว่า ปัจจุบันเริ่มมีทหารอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือคนที่พึ่งพา Jitasa.care สิ่งที่เห็นภาพชัดเจน คือ คนไทยช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเอง ทุกคนช่วยแก้ปัญหา และ ช่วยกันแบ่งปันข้อมูลผ่าน Open Chat ทำให้ความช่วยเหลือทำได้เร็วและตรงจุด

แต่ก็ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีคนที่ “ปักหมุดทิพย์” และ “ช่วยทิพย์” บ้าง แต่ก็ไม่มากไม่ถึง 5% ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ในภาวะวิกฤต คนส่วนใหญ่ตั้งใจช่วยกันจริงและอยากให้ความช่วยเหลือส่งถึงคนที่ต้องการจริง  

กลุ่ม Jitasa.care ไม่ได้เปิดรับบริจาคใดๆ แต่หากใครที่สามารถช่วยเหลือในแต่ละด้าน สามารถเข้าไปดูข้อมูล และ ช่วยเป็นอาสาสมัครแต่ละด้านได้ ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/Jitasa.Care

“วิกฤตครั้งนี้ผ่านไปได้ เพราะทุกคนช่วยกัน” วิวกล่าวทิ้งท้าย

โปรแกรมถ่ายทอดสด โอลิมปิก 2020 ประจำวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2564

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ