ในเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ 'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ กรณีศึกษาเครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นอกจากจะมีผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาจากทั่วประเทศ ยังมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ร่วมนำเสนอความคิดเห็นอย่างน่าสนใจ
'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน
Hybrid learning เทรนด์การเรียนรู้ รับมือกับวิกฤตโควิด-19
ถอดบทเรียน ‘ครูสามเส้า’ โรงเรียนอนุบาลสตูล
โรงเรียนอนุบาลสตูล เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงเรียนสอนวิชาพื้นฐานในตอนเช้า ส่วนช่วงบ่ายเป็นวิชาบูรณาการ ใช้โครงงานฐานวิจัยเป็นเครื่องมือในการออกแบบการเรียนรู้จากการลงพื้นที่และลงมือปฏิบัติจริง โดยการมีส่วนร่วมของ ‘ครูสามเส้า’ ซึ่งประกอบด้วยครูโรงเรียน ครูพ่อแม่ ครูชุมชน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 เด็กๆ ไม่สามารถมาโรงเรียนหรือลงพื้นที่ได้จึงต้องปรับเปลี่ยนมาสอนออนไลน์แทน
ยงยุทธ ยืนยง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวว่า การเรียนออนไลน์ในช่วงแรก ผู้เรียนได้เพียงความรู้แต่ไม่ได้พัฒนาทักษะและเจตนคติ ผลตอบรับจากผู้ปกครองมีทั้งความเครียด กังวล จากการขาดแคลนเครื่องมือ ไม่มีเวลา กำกับควบคุมลูกไม่ได้ และสอนลูกไม่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกินไป และมีการบ้านเยอะจนไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้
จากอุปสรรคที่เกิดขึ้นโรงเรียนอนุบาลสตูลจึงได้ออกแบบ ‘นาฬิกาชีวิต’ ตารางกิจวัตรประจำวันของนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยฝึกทักษะการจัดการตนเอง (self-regulation) ในช่วงเรียนรู้จากที่บ้าน กระบวนการเรียนรู้นี้ให้บทบาทผู้เรียนวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของตัวเอง ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน และวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของผู้ปกครอง เพื่อให้เข้าใจด้วยตัวเองว่าในแต่ละช่วงเวลาของวัน ผู้ปกครองทำอะไรและตนเองทำอะไรบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้นักเรียนแต่ละคนมีตารางนาฬิกาชีวิตเป็นของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
ครูนัฐญา ไหมฉิม ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า ครูเรียนรู้และทำความรู้จักนักเรียนผ่านนาฬิกาชีวิตของแต่ละคน แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยออกแบบโครงงานฐานวิจัยร่วมกับนักเรียนและผู้ปกครอง จากเดิมในสถานการณ์ปกติจัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัย 1 โจทย์วิจัยต่อ 1 ห้องเรียน ปัจจุบันการตั้งโจทย์ขึ้นอยู่กับนาฬิกาชีวิตและบริบทแวดล้อม นักเรียนสามารถเรียนคนเดียว เรียนกับพี่น้อง เรียนกับเพื่อนข้างบ้าน หรือเรียนกับเพื่อนต่างโรงเรียนได้ ทำให้เกิดโจทย์โครงงานฐานวิจัยหลากหลาย เช่น การเลี้ยงปลากัด การปลูกผักปลอดสารพิษ การฝังเข็ม การเลี้ยงวัวบ้าน กาแฟโบราณสตูล ขนมโบราณสูตรคุณยาย และการปลูกต้นไม้ เป็นต้น
“โจทย์เป็นแค่สื่อการเรียนการสอน เป้าหมายที่เราต้องการ คือ การสร้างความรู้ ทักษะ และวิธีคิดของนักเรียน โรงเรียนจัดประชุมผู้ปกครองสร้างความเข้าใจให้เดินไปด้วยกัน ชวนคิด ชวนทำ ปรับบทบาทของผู้ปกครองเป็นการทลายกำแพงห้องเรียน
ยกตัวอย่าง ‘โจทย์ปลากัด’ เป็นโจทย์บนฐานครอบครัวที่นักเรียนได้ร่วมปฏิบัติซึ่งมี 6 ครอบครัวมาเรียนด้วยกัน เด็กดึงผู้ปกครอง เพื่อนที่เลี้ยงปลากัด น้องที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน และเพื่อนต่างโรงเรียนเข้ามาเรียนรู้ ช่วยกันคิดว่าประเด็นไหนเกี่ยวกับปลากัดที่รู้แล้ว ประเด็นที่ยังไม่รู้ และเรื่องที่อยากพัฒนา จนได้โจทย์ออกมาว่าจะผสมพันธุ์ปลากัดอย่างไรให้มีสีสวยงาม ขายได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด” ครูณัฐญา กล่าว
นาฬิกาชีวิตช่วยให้เด็กจัดการตนเอง พลิกอำนาจบริหารจัดการการเรียนไปสู่ผู้เรียน จากที่นักเรียนเคยถูกจัดการผ่าน ‘ตารางสอน’ ในโรงเรียนและพ่อแม่ก็ยอมให้โรงเรียนจัดการ เปลี่ยนเป็น ‘ตารางชีวิต’ ที่พ่อแม่มีส่วนร่วมจัดการและนักเรียนเป็นผู้ออกแบบเอง กระบวนการที่เกิดขึ้นจึงเป็นการเรียนรู้เหมือนได้เรียนผ่านชีวิตจริง
ปฏิรูปการศึกษา คือปฏิรูปการเรียนรู้
หากเป้าหมายของการปฏิรูปการเรียนรู้คือ การที่ผู้เรียนมีความรู้ มีทักษะและมีเจตนคติที่ดี ใช้ความรู้เป็น ทำงานได้ แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากสถานการณ์รอบตัวได้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อห้องเรียนเปลี่ยน นั่นหมายความว่า “ครู” ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้ เปลี่ยนจากบอกสอนมาเป็นสร้างเงื่อนไข สร้างกิจกรรมการเรียนรู้จากโจทย์ปัญหาที่กระตุ้นความสนใจให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ ทั้งจากการทำงานด้วยตัวเองหรือทำงานกับผู้อื่น โดยมีผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทในฐานะครูอีกคนที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่บ้าน จากงานพื้นฐานในชีวิตประจำวันและเรื่องรอบตัว ขณะที่ชุมชนสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวของผู้เรียนทุกคนได้
ครูสามเส้าจึงเป็นการปรับวิธีคิด ใช้พื้นที่บ้านและชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ และให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการการเรียนรู้ ผ่านโครงงานฐานวิจัยที่มี 5 หน่วยการเรียนรู้ 14 ขั้นตอน
สมพงษ์ หลีเคราะห์ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล กล่าวว่า ฐานเดิมของพื้นที่นวัตกรรมสตูลมาจากการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มีภาคประชาสังคมและคนในชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ชาวบ้านพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะที่จำเป็นด้านอื่นๆ จนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนำมาสู่แรงบันดาลใจด้านการจัดการศึกษา ให้ครู ผู้ปกครองและชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ สร้างการเรียนรู้จากโจทย์ของผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้สำรวจสิ่งที่สนใจในชุมชนของตัวเองก่อน เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชน ทรัพยากร และภูมิปัญญา การเรียนรู้จึงถูกสร้างขึ้นไปพร้อมๆ กับการพัฒนาพื้นที่ ทำให้ผู้เรียนรู้จักชุมชนของตัวเอง
“ระบบการศึกษาไม่ใช่ระบบของกระทรวงศึกษาฯ ระบบการศึกษาคือระบบการเรียนรู้ของคน และระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ครูสอนเป็นอาชีพ แต่อาชีพของพ่อแม่ถ้าเป็นคนใต้ เขามีอาชีพกรีดยาง รับจ้าง ค้าขาย ไม่มีความรู้เรื่องการสอน เมื่อโควิด-19 เข้ามานักเรียนไปโรงเรียนไม่ได้ เราต้องให้พ่อแม่สอนในสิ่งที่เขารู้ เป็นการเรียนรู้ที่เป็นความจริง” สมพงษ์ กล่าว
ในวันที่ฐานการเรียนรู้ย้ายจากโรงเรียนไปที่บ้าน การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเริ่มที่โรงเรียนอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ผู้ปกครองและชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมสร้างการเรียนรู้ให้เป็นหนึ่งเดียว
สุทธิ สายสุนีย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ตนย้ำมาเสมอว่าสัดส่วนการสร้างการเรียนรู้ของเด็ก ร้อยละ 40 แรกเกิดขึ้นที่บ้าน ร้อยละ 30 เป็นการเรียนรู้ในโรงเรียน และร้อยละ 30 ที่เหลือเป็นการเรียนรู้จากภายนอก เป้าหมายร่วมของพื้นที่
นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล คือ การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ผู้เรียนปฏิบัติเองและสร้างการเรียนรู้ส่วนบุคคลได้ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในตนเอง ครูสร้าง Learning Space หรือ พื้นที่การเรียนรู้ได้จากทุนในชุมชน ลดอำนาจและสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้อำนวยการ ครู เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน ทำให้ทุกพื้นที่กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ สร้างสาระการเรียนที่ใช้ชีวิตเป็นฐานแทนการเรียน 8 กลุ่มสาระวิชาที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนในสถานการณ์ตอนนี้ว่าเด็กนำมาใช้ในชีวิตจริงไม่ได้
หลักสูตร ‘ครูสามเส้า’ เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า ครูเพียงคนเดียวไม่สามารถทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจาก ครูในโรงเรียน ครูพ่อแม่ และครูในชุมชน เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้อยู่ในวิถีของเด็ก ประเด็นสำคัญ คือ คนในพื้นที่ควรรู้จักตัวเองก่อนไปเรียนรู้สิ่งอื่น และโรงเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา เป็นกลไกการจัดการหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบการศึกษาต่อไป
“ที่ผ่านมาการศึกษาทำลายศักยภาพของเด็กมามากแล้ว จากการเอาความแตกต่างมาทำให้เป็นความเหมือน เราฝากการศึกษาไว้กับเวลา 11% ในโรงเรียน เราจะฝากชีวิตเด็กไว้กับเวลาแค่ 11% นี้จริงๆ หรือ ทั้งที่สาระชีวิตเป็นสาระที่ทิ้งไม่ได้ เอาชีวิตมาเป็นตัวตั้งแล้วออกแบบการเรียนจากตรงนั้น เด็กคนหนึ่งไปอยู่ที่ไหนบทบาทของตัวเองก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อยู่บ้านเป็นลูก อยู่โรงเรียนเป็นนักเรียน ขึ้นรถโดยสารก็เป็นผู้โดยสาร ไปตลาดก็เป็นผู้จ่ายตลาด เด็กควรรู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ถูกที่ถูกทาง บทบาทของโรงเรียนเปลี่ยนไปแล้ว โรงเรียนควรเป็นที่ปรึกษา ร่วมออกแบบการเรียนรู้กับครอบครัวและชุมชน จะไปจัดการเองทั้งหมดไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร เมื่อมีตัวตน มีพื้นที่ มีกิจกรรม การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” สุทธิ กล่าว
หลักสูตรฐานสมรรถนะ จุดเปลี่ยนการศึกษาไทย
นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นเวลาร่วม 13 ปีที่ประเทศไทยใช้หลักสูตรการศึกษาเดิม ขณะที่ประเทศอื่นทั่วทุกมุมโลกปรับเปลี่ยนหลักสูตรนำฐานสมรรถนะมาพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวทันโลกที่มีความรู้หลากหลาย เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนมากขึ้น เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและยากจะคาดเดา ข้อเท็จจริง จากการสำรวจพบว่า สถิติการว่างงานสูงขึ้น ในภาคธุรกิจเด็กจบการศึกษาแล้วทำงานไม่เป็น อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ เพราะขาดการฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ ฝึกทำ หลักสูตรฐานสมรรถนะจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาเชิงนโยบายที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาผลักดันมาตั้งแต่ปี 2562
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) กล่าวว่า การศึกษาควรพัฒนาผู้เรียนให้มีเครื่องมือเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ใช้ดำรงชีวิตและทำงานได้ หลักสูตรสมรรถนะเน้นสิ่งที่ผู้เรียนควรเรียนรู้ ให้ทำเป็น มีพฤติกรรมทางอารมณ์เหมาะสม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้การเรียนรู้มีความหมายและมีคุณค่าบนความเป็นจริง
“หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ใช่ปีศาจแต่เป็นผู้ช่วยให้เกิดการออกแบบการเรียนรู้ ตัวอย่างจากโรงเรียนในวันนี้ เราเห็นวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (PLC) เกิดขึ้นที่บ้านระหว่างครูและผู้ปกครอง รวมถึงชุมชน ให้เด็กเป็นผู้จัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ถ้ายึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดูว่าเขาถนัดอะไร มีศักยภาพมีความสนใจเรื่องอะไร ข้อจำกัดจะกลายเป็นข้อเด่นได้ หลักสูตรสมรรถนะมีความยืดหยุ่น เราปลดล็อกสิ่งที่รัดตรึงครูในอดีต ปลดล็อกตัวชี้วัดมากมาย วันนี้หลายโรงเรียนได้ใช้โควิด-19 แปรวิกฤติเป็นโอกาส ได้ upskill ของผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะทักษะทางดิจิทัล สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้โดยมุ่งที่เด็กอย่างแท้จริง” ดร.สิริกร กล่าวทิ้งท้าย