'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน

โดย THE POTENTIAL

เผยแพร่

หยุดเรียนไปเลยดีไหม เรียนไปก็ไม่ได้อะไร? ทำขนาดนี้ พ่อแม่เหมือนกลายเป็นครูเองแล้ว! ไม่รู้จะหาเวลาไหนมานั่งเรียนกับลูก! มีมือถือแค่เครื่องเดียว จะเรียนพร้อมกันยังไง ตั้ง 3 คน!

เสียงสะท้อนจากผู้ปกครองซึ่งขณะนี้เต็มไปด้วยความอึดอัดและสับสนว่าควรจัดการกับลูกอย่างไร ด้านครูเองก็กำลังตั้งคำถามเช่นกันว่าการศึกษาควรเดินหน้าไปในทิศทางไหน

การจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้ทั้งความรู้เชิงวิชาการและทักษะที่เหมาะสม เป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ และการออกแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ครูต้องเชื่อก่อนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ตลอดช่วงระยะเวลาที่โควิด-19 แพร่ระบาด พบว่ามีโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องหลายแห่งใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส ครูร่วมระดมความคิดออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคลายความกังวลใจของครู ลดความอึดอัดใจของผู้ปกครอง และผู้เรียนยังได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้

"ถุงการเรียนรู้" สื่อการสอน รร.อนุบาลสร้างสรรค์

“หมอโอ๋” แนะวิธีรับมือความเครียดที่เกิดจากการเรียนออนไลน์

 

           เป็นที่มาของการจัดการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ 'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ บทเรียนการจัดการเรียนรู้จาก 3 กรณีศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา* (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล) กำหนดจัด 3 ครั้ง (วันที่ 22,29 สิงหาคม และ วันที่ 5 กันยายน) โดยการเสวนาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางจัดการเรียนรู้ ซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ เป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปปรับใช้อย่างสอดคล้องกับพื้นที่และสถานการณ์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ เครือข่ายที่เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาและมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วย โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ และเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ โรงเรียนบ้านปะทาย และ โรงเรียนบ้านกระถุน มีผู้บริหาร ครู บุคลากรด้านการศึกษา ทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เข้าร่วมวงเสวนาร่วมจำนวนมาก

วางโครงสร้างใหม่ในวิกฤต

          เรียนอยู่กับบ้าน การบ้าน ใบงานไม่ต้องเยอะ แต่ขอให้เป็นโจทย์ที่ “ซับซ้อน” และ “ท้าทาย” 
การเจอครูแบบออนไลน์ไม่ใช่ชั่วโมงสอนความรู้ แต่เป็นการชวนผู้เรียนคิดสะท้อนสิ่งที่ทำมาก่อน แล้วครูให้คำแนะนำกลับ (feedback) เพื่อให้ผู้เรียนมีทิศทาง

          ผู้ปกครอง ไม่สอน ไม่สั่ง เน้นสนับสนุนให้คำแนะนำตามเป้าหมาย

           ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ สรุปถึงหัวใจสำคัญของการปรับโครงสร้างการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยย้ำชัดว่า ครูกับผู้ปกครองต้องทำงานร่วมกัน โดยครูต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ดึงผู้ปกครองมาร่วมเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจเป้าหมาย รู้จักลูก (ตามวัย) และรู้วิธีการเรียนรู้ร่วมกับลูก วงเรียนรู้ PLC (Professional Learning Community) หรือ ชุมชนการเรียนรู้  ที่ขยายจากการทำเฉพาะในกลุ่มครูไปสู่ผู้ปกครองจึงมีความสำคัญมากต่อการกำหนดทิศทางให้การเรียนรู้เดินหน้าต่อได้บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน
          “ตอนนี้ครูอยู่ในสถานการณ์ท้าทาย เราต้องดึงศักยภาพมาสู้เพื่อให้เกิดสมรรถนะในตัวเอง แน่นอนว่าการเรียนที่โรงเรียน เด็กได้ผลลัพธ์มากกว่าเพราะได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน แต่เมื่ออยู่ที่บ้าน ขึ้นอยู่กับว่าครูจะออกแบบการเรียนรู้และให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองได้มากแค่ไหน เพราะผู้ปกครองกลายเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ครูและโรงเรียนต้องทำงานต่อไปเพราะเราคงไม่สามารถทำงานสำเร็จได้ในวันเดียว  ผู้ปกครองก็ไม่สามารถเข้าใจได้ในวันเดียว สถานการณ์การเรียนแม้ว่าครูไม่ได้เต็มที่ทั้งหมด แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่นี้คือหนทางออกในอนาคต เพราะยุคสมัยนี้การผูกขาดยึดโยงการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่สถาบันการศึกษาแล้ว เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เคยคิดจากโรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ มาสู่ผู้เรียนเป็นฐานการเรียนรู้ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน” ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง กล่าว
เมื่อโลกเปลี่ยน ครูต้องเปลี่ยน

                  
                                     
ครูวิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์

        วัตถุประสงค์ของการวางโครงสร้างการจัดการเรียนรู้ในช่วงล็อกดาวน์ของโรงเรียนลำปลายมาศ เน้นไปที่การทำให้การเรียนของผู้เรียนไม่ชะงัก ไม่ถดถอย เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับการระบาดของโรคได้โดยไม่รู้สึกตระหนกและหวาดกลัว รวมทั้งให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนความเป็นผู้จัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-directed learner)
           สำหรับนักเรียนปฐมวัย ครูสุกัญญา แสนลาด  โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เล่าประสบการณ์ว่า การจัดการเรียนการสอนของเด็กอนุบาลต้องสอนพ่อแม่ก่อน ครูนัดผู้ปกครองมาประชุมร่วมกัน “ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองกลับไปสร้างการเรียนรู้ให้ลูกที่บ้านได้?” วิธีคิดนี้ทำให้การเรียนการสอนช่วงโควิด-19 ระดับอนุบาลของโรงเรียนลำปลายมาศฯ “ไม่เรียน” ออนไลน์ 100% และครูไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตัวเด็กเลยแต่มีผู้ปกครองเป็น “โค้ช” อยู่ที่บ้าน
           การสร้าง self ให้ผู้เรียนเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ ครูสุกัญญา ยกตัวอย่างประโยคที่ยิ่งพูดลูกยิ่งเสีย self หรือยิ่งเสียความมั่นใจในตัวเอง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง เช่น  “ทำไมไม่เก่งเหมือนพี่ เหมือนน้องบ้าง” “อีกแล้วนะสอนไม่รู้จักจำ” “บอกกี่ครั้งแล้วว่าอย่าทำ” “ไปไกลๆ เลยนะ พ่อแม่กำลังยุ่งอยู่” เป็นต้น โดยครูจะชี้แนะแนวทางให้ผู้ปกครองวิเคราะห์คำพูดและท่าทีของครูว่า คำพูดไหนควรพูดไม่ควรพูด ท่าทีไหนควรทำและไม่ควรทำกับลูก เพื่อให้ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดสื่อสารในทางที่ผิด
           ในระดับประถมศึกษา วิธีการที่ ครูศิริมา โพธิจักร์ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา นำมาใช้สร้างการเรียนรู้ คือ ความพยายามเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกศิษย์เป็นรายคน และไม่ใช้ช่วงเวลาออนไลน์ในการบอกสอน แต่เปลี่ยนมาเป็นการฟังผู้เรียนนำเสนองาน อธิบายปัญหา และให้คำแนะนำจากกิจกรรมที่ผู้เรียนออกไปปฏิบัติ
        “กระบวนการฟีดแบคให้คำแนะนำนักเรียนของโรงเรียนลำปลายมาศฯ ครูจะทำทันที เราจะไม่ทิ้งโทรศัพท์และไม่รอช้า เมื่อมีไลน์เข้ามาครูจะรีบตอบกลับ เพราะเราเชื่อว่า ณ ขณะนั้นผู้เรียนกำลังมีความอยากเรียนรู้ ครูจะไม่ทิ้งโอกาสนี้” ครูศิริมา กล่าว
           ด้าน ครูพรรณี แซ่ซือ ครูระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา กล่าวว่า ครูต้องปรับวิธีคิดของตัวเองให้เข้าใจโครงสร้างการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เน้นให้โจทย์ยากและซับซ้อนกับนักเรียนแต่ไม่เน้นปริมาณ หลังจากนั้นจึงวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ประเมินศักยภาพของผู้ปกครอง และความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากนี้ ครูยังต้องทำงานกับผู้ปกครองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการทำให้ผู้ปกครองเข้าใจลูกที่อยู่ในวัยรุ่น ครูใช้วิธีการให้พ่อแม่วิเคราะห์งานลูก และให้ลูกวิเคราะห์งานของพ่อแม่ เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน และตารางเวลาเรียนก็ยังเป็นการกำหนดร่วมกันอีกด้วย เช่น มีเรียนตอน 19.00 น. เป็นต้น
          “เด็กวัยนี้ใช้เวลาหน้าจอเยอะมาก ครูต้องฉกชิงช่วงเวลาหน้าจอมาเป็นช่วงเวลาการเรียนรู้ให้ได้ ด้วยการให้นักเรียนได้ลงมือทำ สร้างการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ที่นักเรียนออกแบบเอง เช่น การให้นักเรียนศึกษาสรรพคุณของสมุนไพรใกล้ตัว และสกัดน้ำมันจากสมุนไพรหรือวัตถุดิบที่สนใจ เพราะเป้าหมายสำหรับนักเรียนมัธยม เราต้องการให้เขากำกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ชิ้นงานเป็นแค่ร่องรอยการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน เพื่อให้ครูประเมิน ติดตามผล และเห็นแนวโน้มว่าจะพัฒนาเพิ่มเติมในทิศทางไหน”


อยู่ที่ไหนก็ ‘
เรียนได้’…อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน

          กรณีศึกษาเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ มีโรงเรียนนำร่อง 2 โรงเรียน ที่มีบริบทแตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 แห่ง สามารถจัดการเรียนรู้ฝ่าโควิด-19 ครั้งนี้ได้ สอดคล้องกับแนวคิดของครูใหญ่วิเชียรที่บอกว่า อยู่ที่ไหนก็ ‘เรียนได้’…อยู่ที่ไหนก็ ‘ได้เรียน’

           ครูปัญชลีย์ ฉัตรอริยวิชญ์  โรงเรียนบ้านปะทาย จังหวัดศรีสะเกษ พยายามหาวิธีช่วยสนับสนุนพี่ๆ ไม่ให้ห่างการศึกษา ครูเอ๋ออกแบบการเรียนการสอนด้วยการเลือกหยิบตัวชี้วัดที่สำคัญของแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ในแต่ละช่วงชั้นมาวางแผนการสอนก่อน และเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน เช่น หน่วยการเรียนรู้จำนวนที่มีค่ามากในวิชาคณิตศาสตร์ ครูตั้งคำถามก่อนวางแผนการสอนว่า ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน? เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?  จำนวนที่มีค่ามากที่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุดเป็นอะไรได้บ้าง? นำมาสู่ไอเดียที่ครูหยิบยกตัวเลขจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มาจัดการเรียนการสอนเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนการประเมินเบื้องต้น ให้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง โดยครูกำหนดระดับให้เช่น “เตาะแตะ ใกล้แล้ว
         “ในช่วงแรกนักเรียนประถม ครูให้การบ้านไปเยอะ นักเรียนทำไม่ทัน บางครั้งผู้ปกครองทำให้ พอเกิดปัญหาครูก็ต้องมาปรับตารางการเรียนรู้ใหม่ เพื่อลดภาระงานของผู้เรียน ออกแบบวิธีการวัดและการประเมินผลใหม่ และสร้างการเรียนรู้กับผู้ปกครอง”
         อีกด้านหนึ่ง โรงเรียนบ้านกระถุน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเชิงระบบ มีนักเรียนประมาณ 70 คน ครู 7 คน สอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6  ครูสินีนาฎ ยาหอม เล่าว่า แนวคิดการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม โดยผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ผ่านวิถีชีวิตประจำวัน เช่น งานครัว งานบ้าน และงานสวน แต่ยังคงความท้าทายและความซับซ้อนของโจทย์การเรียนรู้ เช่นเดียวกับโรงเรียนลำปลายมาศฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบ
         ครูสินีนาฎ ยกตัวอย่างโจทย์ที่มอบหมายให้นักเรียนระดับประถมลงมือทำงานครัว โดยให้ถ่ายคลิปขณะทำกิจกรรมส่งในกลุ่มไลน์ และให้อธิบายกระบวนการทำงาน โดยแจกแจงบทบาทให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วย เช่น ถ่ายวิดีโอ ตั้งคำถามกระตุ้นการเรียนรู้กับลูกขณะทำกิจกรรม หลังทำกิจกรรมเสร็จแล้ว สำหรับนักเรียนชั้น ป.1 ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมบอก (อ่านหรือพาเขียน) ใบงานสรุปกิจกรรม ส่วนนักเรียนชั้น ป.2 – 3 สามารถออกแบบใบงานสรุปเองได้
        “ความท้าทายของครู อยู่ที่นักเรียนบางคนอาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไปถึงเป้าหมายการเรียนรู้ได้ยาก เพราะผู้ปกครองไม่สามารถสนับสนุนการเรียนรู้ได้เต็มที่ หรือบางคนไม่สามารถเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนได้ แต่ความโชคดีของการเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ครูลงพื้นที่ไปหานักเรียนได้เลย แล้วแก้ปัญหาด้วยการนัดสอน และพูดคุยเพิ่มเติม หรือบ้านไหนที่เด็กเรียนรู้ได้ดี ผู้ปกครองพอช่วยได้ ครูจะพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ช่วยตั้งคำถาม หัวใจสำคัญของโรงเรียนบ้านกระถุน คือ ผู้ปกครองกับโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากทำให้การทำงานร่วมกันง่าย โดยเฉพาะในวง PLC ที่คุยกันได้แบบเปิดใจ”

โอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง

          วิกฤติครั้งนี้ทำให้คนทำงานด้านการศึกษาทุกฝ่ายปรับตัวเร็วขึ้น และเกิดนวัตกรรมมากมายที่เป็นรูปธรรมด้านการจัดการเรียนรู้ไปสู่ผู้เรียน รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ สะท้อนว่า โควิด-19 ปรับวิธีคิดของคนทั้งประเทศหลายด้าน ในด้านการศึกษาทำให้โรงเรียนถูกมองเป็นเพียงแค่ศูนย์ปฏิบัติการสร้างการเรียนรู้ และมองเห็นสถานที่ทุกแห่งเป็นสถานที่เรียนรู้ได้
        “เราได้เห็นภาพชัดเจนว่าเด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองจริงๆ เป็นอย่างไร จนทำให้ครูมีความเชื่อว่าเด็กทำได้ วิกฤตครั้งนี้เปลี่ยนวิธีทำงานของครู เปิดทางให้ครูได้ปรับทักษะ เช่น การวิเคราะห์บทเรียน การสร้างคำถาม การประเมินผลที่ไปให้ถึงสมรรถนะผู้เรียนจริงๆ เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ปกครองที่คิดว่าส่งลูกมาที่โรงเรียนแล้วสบาย ทั้งที่จริงๆ บ้านเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้มหาศาล เป็นจุดที่ทำให้ผู้ปกครองได้มีปฏิสัมพันธ์ในเชิงการเรียนรู้กับลูกหลาน แม้แต่ปู่ย่าตายายก็ทำได้ เป็นโอกาสให้เกิดการสร้างเครื่องมือที่ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทำให้บ้านกับโรงเรียนเชื่อมโยง แล้วใช้เครื่องมือเดียวกันในการพัฒนาผู้เรียน”
         ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โรงเรียนลำปลายมาศเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ มีปรัชญาของผู้บริหารที่สามารถถ่ายทอดแนวคิดเชิงโครงสร้างของระบบโรงเรียนไปสู่ครูด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้ครูและผู้บริหารเข้าใจตรงกันว่ากำลังจะพาโรงเรียนไปในทิศทางไหน ในที่นี้คือเน้นตัวเด็ก (self) เป็นสำคัญ การที่โรงเรียนแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ (Vision) กับผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจเป้าหมายเป็นการสร้างแรงผลักดันที่ทำให้ผู้ปกครองไม่มองเรื่องการช่วยลูกเรียนที่บ้านเป็นภาระ ส่วนนี้ทำให้ผู้ปกครองเต็มใจให้ความร่วมมือแทนที่จะส่งเสียงก่นด่า
       “การทำแซนด์บ็อกซ์ (พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา) การเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้ทดลองทำอย่างอิสระ เป็นแนวคิดที่สำคัญ ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงโครงสร้าง เราจะรู้สึกถึงความแข็งกระด้าง แต่โครงสร้างในมิติใหม่ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่น ร่วมมือ และเข้าใจตรงกัน แสดงให้เห็นวิธีการออกแบบโครงสร้างการเรียนรู้ที่ครูต้องเข้าใจตรงกันก่อน จุดตั้งต้น คือ ครูต้องการอะไร แล้วอยากให้เกิดอะไรกับผู้เรียน หลังจากนั้นจึงสร้างระบบการเรียนรู้ให้กับผู้ปกครอง ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจ ตระเตรียมผู้ปกครอง สืบหาปัญหาและข้อจำกัด ทำให้การเรียนรู้ที่บ้านและที่โรงเรียนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มีเป้าหมายตรงกันอยู่ที่ผู้เรียน...เราต้องไม่กลัวโควิด-19 แต่ต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้”

ปลดล็อกเมื่อล็อกดาวน์

          การจัดการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น ปลดล็อกระบบไม่เน้นการสอนเพื่อวัดผล เรียนเฉพาะวิชาสำคัญ แล้วผลักดันให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้จากเรื่องราวรอบตัว เป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษามีความคิดเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องหนุนการศึกษาไทยไปในทิศทางนี้ท่ามกลางสภาวะวิกฤติ 
         ขณะที่การสนับสนุนจากฝ่ายนโยบาย ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ย้ำว่า ปัจจุบันมีการปลดล็อกให้โรงเรียนจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นแทบทุกด้าน
         “สำนักวิชาการฯ พยายามติดตามข่าวว่าปัญหาและความทุกข์ของครูอยู่ตรงไหน แล้วพยายามปลดล็อกให้ ทั้งเรื่องตัวชี้วัด การสอบ การนับเวลาเรียน ให้อยู่บนเกณฑ์และเป้าหมายที่ครูกำหนดได้และสามารถลงมือทำได้ทันที”
         ด้าน ดร.สิริกร มณีรินทร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) กล่าวถึง การขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายด้านการศึกษาว่า จากที่กระทรวงศึกษาธิการมีประกาศเริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะทุกโรงเรียน ในปีการศึกษา 2565 หลังมีการวิจัย พัฒนา และทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม 8 จังหวัด กรณีศึกษาจากทั้ง 3 โรงเรียนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะจะไม่เป็นภาระให้กับครูและโรงเรียนในอนาคต เพราะเนื้อหาในหลักสูตรทั้งหมดเป็นสิ่งที่โรงเรียนทำอยู่แล้ว
         “หัวใจความสำเร็จของการศึกษาฐานสมรรถนะ คือ การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ร่วมมือร่วมใจกันในโรงเรียน ระหว่างผู้อำนวยการ ครูทุกคนในโรงเรียน มาวางแผนจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ในวันนี้ได้เห็นภาพที่เกินความคาดหมายไปด้วยซ้ำ เพราะได้เห็นความร่วมมือของผู้อำนวยการ ครู นักเรียนและผู้ปกครอง เป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่อิงกับชีวิตจริง ผู้เรียนได้รู้และเข้าใจเป้าหมายการเรียนรู้ของตัวเอง โดยมีผู้ปกครองคอยช่วย ได้รับความรู้ ทักษะและเจตนคติไปด้วยกันอย่างครบถ้วน สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นได้” ดร.สิริกร กล่าว

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ