วงเสวนาจุฬาฯ มองเหตุน้ำมันรั่วทะเลมาบตาพุด คนไทยสนใจกระทบมากขึ้น พร้อมแนะวิธีจัดการ
สั่งปิดหาดแม่รำพึง 10 วัน เร่งกู้คราบน้ำมันดิบ คลื่นซัดเข้าฝั่ง
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 65 ศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุสารเคมีปริมาณมหาศาลปนเปื้อนในทะเล มักจะเห็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ลงลึกในรายละเอียดและรอบด้านเท่าที่ควร โดยเฉพาะปะการังมักถูกประเมินว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเราดูจากภายนอกของปะการังเท่านั้น
แท้ที่จริงแล้ว ภายในของปะการังได้รับผลกระทบมาก แต่ผู้คนในสังคมไม่ทราบเพราะไม่ได้ดูอย่างละเอียด ทั้งนี้ไม่ว่าในน้ำมันหรือสารขจัดคราบน้ำมัน ล้วนเป็นส่วนผสมของสารเคมีต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และใช้เวลานานกว่าจะได้เห็นถึงผลเสียที่สะสมและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ยังสามารถส่งผลกระทบต่อบริเวณใกล้เคียงถึงแม้ว่าจะไม่พบคราบน้ำมันหรือการปนเปื้อนก็ตาม เนื่องจากเป็นน้ำทะเลมวลเเดียวกัน ปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณใกล้เคียงจึงได้รับผลกระทบเช่นกัน
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่าน้ำมัน หรือคราบน้ำมัน รวมทั้งสารขจัดคราบน้ำมัน อาจจะทำให้ปะการังเป็นหมัน โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ หรือถึงแม้ปะการังจะสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ปะการังเป็นหมันเฉียบพลัน และมีผลกระทบต่อปะการังอย่างมาก เพราะการที่ปะการังจะเพิ่มจำนวนประชากรให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้น จำเป็นต้องมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ปะการังเป็นหมันทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรออกลูกออกหลานได้ อาจส่งผลให้ปะการังลดลงและสูญพันธุ์ไปในที่สุด การเป็นหมันชั่วคราวนี้ ถึงแม้สิ่งแวดล้อมจะกลับมาเหมือนเดิม แต่ก็อาจจะใช้เวลา อย่างน้อย 3-5 ปี กว่าปะการังจะสามารถกลับมาปล่อยไข่และสเปิร์มได้เหมือนเดิมบางส่วน แต่ปะการังส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบก็ไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ 100%