จิตแพทย์ยกเคส “UrboyTJ” เตือนสัญญาณโรคซึมเศร้า แนะช่วยรับฟังปัญหา “คือทางออก”

โดย PPTV Online

เผยแพร่

กรณีการหายตัวไปของแร็ปเปอร์ชื่อดัง “ยัวร์บอย ทีเจ” (Urboy TJ) หลังจากที่ประกาศว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและไบโพล่า ล่าสุดคนใกล้ชิดจะพบเจอตัว “ยัวร์บอยทีเจ” ซึ่งอยู่ในอาการปลอดภัยดี ขณะเดียวกันทางโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้แนะสัญญาณเตือนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พร้อมแนะนำว่าแค่รับฟังก็สามารถช่วยผู้ป่วยได้

เจอตัวแล้ว! 'UrboyTJ' หลังโพสต์ป่วยซึมเศร้า แล้วหายตัว

คนบันเทิงเผชิญโรคซึมเศร้า

การหายตัวไปของ แร็ปเปอร์ชื่อดัง  ยัวร์บอยทีเจ (Urboy TJ)  หรือ เต๋า จิรายุทธ ผโลประการ  หลังออกมาโพสต์ข้อความที่บ่งบอกว่าตัวเองป่วยโรคซึมเศร้า และ ไบโพลาร์ รู้สึกหมดไฟในการใช้ชีวิตมาหลายเดือน  และเมื่อคืนได้ตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่โชคดีที่ทำไม่สำเร็จ 

โดยหลังจากนั้นคนใกล้ชิด ได้มีการประกาศตามหาตัว ยัวร์บอยทีเจ กันอย่างชุลมุน ทั้งนักร้องดังป๊อป-ปองกูล และคุณโอ่ง มือกีตาร์ Backup วงยัวร์บอยทีเจ และเป็นผู้จัดการส่วนตัว  ได้โพสต์ข้อความในโซเชียลเพื่อประกาศตามหาตัว

ตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา ซึ่งยัวร์บอยทีเจ ได้หายตัวไปพร้อมกับรถพอร์ช สีเขียว โดยมีการโพสต์ไมล์เลขรถผ่านอินสตาแกรมสตอรี่ พร้อมทั้งเผยแชทข้อความที่ได้พูดคุยกับ ยัวร์บอยทีเจ ที่บ่งบอกว่าน่าเป็นห่วงอย่างมากโดยพบพิกัดแถวมอเตอร์เวย์ 

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ประมาณ 07.00 น. โอ่ง มือกีตาร์ แบ็กอัพและผู้จัดการส่วนตัว ได้ออกมาโพสต์บอกว่า  ตอนนี้เจอเต๋าแล้วนะครับ ปลอดภัยดีครับ ขอบคุณทุกๆที่เป็นห่วงเต๋านะครับ ขอบคุณจริงๆครับ  ซึ่งหลังจากที่พบตัว ยัวร์บอยทีเจ  เหล่าบรรดาแฟนคลับ ก็มีการโพสต์ข้อความให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก โดยขอให้รักษาตัวให้หายโดยเร็ว และรอวัน ยัวร์บอยทีเจ กลับมาเล่นดนตรีให้ฟังอีกครั้ง

ทั้งนี้ประเด็นที่หลายคนสงสัยก็คือโรคซึมเศร้าของ ยัวร์บอยทีเจ  ซึ่งนายแพทย์ วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับทีมข่าว PPTV ว่า  โรคซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของโรคจิตเวช  เกิดจาก 3 สาเหตุหลักคือ ทางกาย, ทางใจ, และสังคม ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักจะได้รับผลกระทบกับการใช้ชีวิต ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากคุยกับคนอื่น ไม่อยากทำงาน และเมื่อหนักเข้าก็เริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือ ฆ่าตัวตาย หากไม่ได้รับการรักษา

สำหรับสัญญาณเตือน ก่อนที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะฆ่าตัวตาย อย่างแรกสังเกตได้จากการใช้คำพูดชีวิตประจำวัน  เช่น  ไม่อยากมีชีวิตอยู่  การบอกลาสั่งเสีย พูดถึงวันเก่าๆ  พูดถึงอนาคตที่ไม่มีชีวิตเขาอยู หรือการสังเกตสัญญาณจากโซเชียลมีเดียของผู้ป่วย  ซึ่งปัจจุบันนี้ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจน  ส่วนใหญ่มักจะโพสต์ภาพทำร้ายตัวเอง หรือภาพจอดำมืด ซึ่งไม่อยากให้ตีความว่าคนเหล่านี้เรียกร้องความสนใจ

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า อย่างกรณีของ ยัวร์บอยทีเจ ก็เห็นสัญญาณในโซเชียลมีเดียส่วนตัวที่ชัดเจน โดยโพสต์ระบุเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการไม่มีคนที่รับฟัง สะท้อนให้เห็นถึงคนที่เป็นบุคคลสำคัญ ที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นคนแข็งแกร่ง สามารถจัดการกับปัญหาได้ แต่ในความจริงภายนอกดูเหมือนไม่ป่วย  แต่กลับไม่มีคนรับฟัง ก็ทำให้มีความเครียดสูงได้ เพราะฉะนั้นการรับฟังใครสักคน ที่อยากจบชีวิตตัวเอง

นายแพทย์ วรตม์ ระบุอีกว่า เป็นทางออกแรกที่ทุกคนทำได้และไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการให้ผู้ป่วยได้เล่าระบายความในใจออกมาก็ทำให้เขารู้สึกเบาแล้ว ส่วนการให้คำแนะนำว่า สู้ ๆ สามารถทำได้  แต่ต้องเข้าใจแล้วว่า ผู้ป่วยทำกำลังสู้กับอะไร

 

สิ่งที่จำมากเป็นที่สุดคือ เราฟังเขาก่อนว่า เขากำลังทุกข์ใจเรื่องอะไร มีคนบอกว่า อย่าพูดว่า สู้ ๆ ได้ยินบ่อยว่า สู้   จริง ๆ สู้ๆพูดได้นะ ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเขากำลังสู้อยู่กับอะไร ถ้าเราฟังเขาจนเข้าใจแล้วรู้ว่า เขากำลังสู้อยู่กับปัญหาแบบนี้ ปัญหาแบบนี้ ในมุมมองของเขาเป็นอย่างไรความเข้าใจของเขาเป็นอย่างไร เราจะสามารถให้กำลังใจหรือว่า บางทีการนั่งอยู่เฉยๆก็ถือว่าเป็นการให้กำลังใจแล้ว มีคนบอกว่า แค่เล่าก็เบาแล้ว เขาได้พูด ได้ระบายทุกอย่าง คนเราไม่ได้โชคดีที่จะมีคนรับฟัง แต่ถ้าคุณสามารถเป็นคนคนหนึ่งที่รับฟังใครสักคนได้ กรุณาเป็นคนนั้นนะครับนายแพทย์ วรตม์ กล่าว

 

แพทย์ชี้คนฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ มีโอกาสก่อเหตุซ้ำ

 ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย และทำไม่สำเร็จ นายแพทย์ วรตม์ ระบุว่า มีงานวิจัยพบว่าในรอบ 1 ปีแรก ผู้ที่มีโอกาสฆ่าตัวตายซ้ำ เกิดขึ้นตั้งแต่ 50 -90%  เพราะฉะนั้นในช่วงระยะเวลา 1 ปีแรกหลังจากเกิดเหตุ  ทางครอบครัวจะต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำได้   ยิ่งในการก่อเหตุครั้งต่อไป ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จมากขึ้นตามไปด้วย

โดยโอกาสที่ว่าจะสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ นายแพทย์ วรตม์ กล่าวว่า โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการกินยาและการทำจิตบำบัด  ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวกับความเครียด  รวมทั้งการรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง โดยมีโอกาสที่การรักษาจะสำเร็จ บางคนดีขึ้นในระยะเวลาเพียง 6-8 เดือน จนสามารถใช้ชีวิตกลับมาเป็นปกติและหยุดยาได้ภายใน 1 ปี

ขณะที่ภาพรวมการฆ่าตัวตาย ในช่วง 2-3 ปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 8 – 12%  อย่างในปี 2563 ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต  รายงานอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ 7 คน ต่อประชากร 100,000 คน

 

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ