สัตว์เลี้ยงเองก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้เหมือนคนเราเช่นกัน โดยปัจจุบันพบโรคเบาหวานในสุนัขและแมวถึง 5 – 10 % ซึ่งการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินยังไม่ให้ผลดีนัก
ทีมวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด (Bio ink Co., Ltd.) บริษัทสปินออฟ (spin-off) ของจุฬาฯ พัฒนาวิธีการสร้างเซลล์ตับอ่อนของสุนัขจากสเต็มเซลล์ และเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศ มุ่งทดสอบในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วย เพื่อใช้ในการรักษาสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานต่อไป
ญี่ปุ่นเตรียมทดลองรักษาพาร์กินสันด้วยสเต็มเซลล์ในมนุษย์
นักวิทย์สร้างตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งลิง หวังแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่าย
“โรคเบาหวานในคนและสัตว์เลี้ยงมีความใกล้เคียงกันในระดับหนึ่ง แต่องค์ความรู้ในการรักษาเบาหวานในสัตว์และในคนยังห่างไกลกันมาก ปัจจุบันการรักษาโรคเบาหวานในคนมีแนวโน้มที่จะใช้สเต็มเซลล์และเทคโนโลยีขั้นสูง เราจึงพยายามนำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาการรักษาในสัตว์ด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เจนภพ สว่างเมฆ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ co-founder ของบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด กล่าวถึงแรงจูงใจในการพัฒนาวิธีการสร้างเซลล์ตับอ่อนของสุนัขจากสเต็มเซลล์
สำหรับ ‘เบาหวาน’ เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย หากมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากตัวโรคก็สามารถทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ หรือหากไม่สามารถคุมน้ำตาลได้ ในระยะยาวก็จะส่งผลให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย สร้างความทุกข์ทรมานให้กับสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ รวมถึงเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง
ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ สว่างเมฆ
วิจัยนวัตกรรมสเต็มเซลล์ รักษาโรคเบาหวานในสัตว์สำเร็จ
ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ อธิบายว่า โรคเบาหวานที่เกิดในสุนัขส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คือร่างกายไม่มี beta-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ใช้ในการสร้างอินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายขาดอินซูลิน ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่พบในแมวนั้น ร่างกายยังมี beta-cells แต่มีความบกพร่องในการหลั่งอินซูลิน หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้น การรักษาโรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิดจะมีความแตกต่างกัน
อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.ศิริรัตน์ นันวิสัย และ ดร.วัชรีวรรณ รอดประเสริฐ co-founder บริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการวิจัยครั้งนี้ หน่วยวิจัย Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด เน้นการศึกษาเพื่อรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เกิดขึ้นในสุนัข เป็นลำดับแรก เนื่องจากพบว่ากระบวนการรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันที่ใช้การฉีดอินซูลินให้สุนัขยังให้ผลการรักษาไม่ดีนัก
เภสัช จุฬาฯพัฒนา“น้ำกระสายยาฟาวิพิราเวียร์”สำหรับเด็ก รสหวาน-เก็บได้นาน
ค้นพบยีนก่อ “ลมชัก” ในผู้ใหญ่ ความหวังใหม่ตรวจวินิจฉัยโรค
ในการวิจัย เราสร้างเซลล์ตับอ่อนของสุนัข หรืออาจเรียกว่า เซลล์สังเคราะห์อินซูลิน (insulin-producing cells, IPCs) ซึ่งเป็นเซลล์ตับอ่อนที่เหนี่ยวนำมาจากสเต็มเซลล์ชนิดมีเซนไคม์ของสุนัข (canine mesenchymal stem cells, cMSCs) พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกถ่าย เพื่อใช้ในการทดแทนเซลล์ตับอ่อนที่เสียหายหรือถูกทำลายไป โดยเซลล์ที่ผลิตได้นี้ มีความสามารถในการสร้างและหลั่งอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.วัชรีวรรณ กล่าวเสริมว่า วิธีการดังกล่าวใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี double encapsulation ทำให้เซลล์แข็งแรง ป้องกันเซลล์จากความเสื่อมและเสียหาย รวมทั้งการต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
“โรคเบาหวานเป็นที่โรคที่รักษาไม่หายขาด องค์ความรู้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าสเต็มเซลล์สามารถทดแทนเซลล์อื่นในร่างกายได้ จึงนำความรู้ที่มีอยู่มาสร้างเซลล์จำเพาะด้วยกระบวนการเหนี่ยวนำในห้องทดลอง ร่วมกับเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ โดยมุ่งทดสอบในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วยในระยะต่อไป ซึ่งทีมมีความมุ่งหมายในการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาด ลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาให้น้อยลง” ดร.วัชรีวรรณ กล่าว
ดร.วัชรีวรรณ รอดประเสริฐ
‘สเต็มเซลล์’ ความหวังรักษาโรคในสัตว์และคน
ปัจจุบันทีมงานวิจัยสามารถพัฒนาเซลล์จากเนื้อเยื่อของสุนัข นำมาคัดแยกสเต็มเซลล์ เลี้ยงเพิ่มจำนวน และประสบความสำเร็จในการสร้างกระบวนการเหนี่ยวนำเซลล์ พร้อมเทคโนโลยีการปลูกถ่าย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สำเร็จพร้อมทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยทั้งตัวเซลล์ และระบบการนำส่งในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วย คาดว่าไม่เกิน 3 ปีก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาจริงในสัตว์ต่อไป
สเต็มเซลล์สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ถ้าเราสร้างเซลล์จากสเต็มเซลล์ได้ ในอนาคตทุกอวัยวะในร่างกายจะถูดทดแทนโดยการใส่เซลล์หรือเนื้อเยื่อเข้าไปแทนได้เลย ขณะนี้เราได้ทำการศึกษาควบคู่ไปกับการทำกระดูกเทียมเพื่อทดแทนกระดูกที่มีความเสียหายหรือเร่งการซ่อมแซมกระดูก รวมถึงการทำกระจกตาในสุนัขซึ่งศึกษาวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
นับว่าเทคโนโลยีสเต็มเซลล์เป็นความหวังในการใช้รักษาโรคเบาหวานและโรคอื่น ๆ ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในการรักษาสัตว์เลี้ยงจะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อใช้รักษาคนด้วย
แผนผลิตเวชภัณฑ์จากสเต็มเซลล์เพื่อรักษาโรค
จากองค์ความรู้ด้านไบโอเอนจิเนี่ยริ่ง และสเต็มเซลล์เทคโนโลยี หน่วยวิจัย VSCBIC คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ทั้งในส่วนของเซลล์บำบัด (cell therapy) และผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ (stem cell-derived products) สำหรับใช้ในการรักษาโรคในสัตว์เลี้ยงในอนาคตอันใกล้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่สร้างจากเซลล์ที่เรียกว่า Exosome Product โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาทำเป็นเวชภัณฑ์ที่สามารถใช้เพื่อรักษาโรคให้กับสัตว์ป่วย หรือให้เข้าไปในอวัยวะ เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูอวัยวะที่เสื่อมหรือเสียหาย
นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้รักษาโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต และโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ การติดเชื้อ หรือโรคทางภูมิคุ้มกัน คาดว่าจะพร้อมทดสอบในสัตว์ทดลองภายในปีนี้ และไม่เกิน 2 ปี จะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เพื่อใช้ในการรักษาโรคในสัตว์ป่วยต่อไป
เช็กพื้นที่ เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 21 -25 ก.ค. นี้