หลังโควิด-19 ถูกเปลี่ยนผ่านเป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมากมาย ทั้งการยกเลิกการตรวจเอกสารฉีดวัคซีนหรือผลตรวจ ATK จากนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางกลับประเทศ รวมถึงการยกเลิกกักตัวผู้ป่วยโควิดอาการน้อย แต่ให้ป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดเป็นเวลา 5 วันแทน
รวมถึงมีการปรับแผนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้ผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลืองรักษาฟรีตามสิทธิ หมายความว่าหากใครเป็นผู้ประกันตน ของสำนักงานประกันสังคม อยากรักษาตัวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจะต้องเข้ารักษาตามสิทธิ
สิทธิประโยชน์ประกันสังคม นายจ้างรับลูกจ้างอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน
เช็กสิทธิ ประกันสังคม ปรับอัตราเบิกจ่ายค่ารักษาโควิด RT-PCR เหลือ 900
แต่จะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น ล่าสุด ปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ และรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
ติดโควิด ใช้สิทธิรักษาโรคอย่างไร?
เมื่อเราพบผลตรวจ ATK เป็นบวก หรือขึ้น 2 ขีด ถ้าไม่มีอาการเจ็บป่วยใด หรือมีอาการน้อยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้
แต่ถ้ามีอาการ เช่น ไอ หอบ เหนื่อย หรือมีไข้ ให้เข้ารักษาตามสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนมีสิทธิอยู่ แต่สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดงสถานพยาบาลใช้ได้ทั้งสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่ใกล้บ้าน
ส่วนผู้ประกันตนที่อยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างจังหวัด แต่กลับป่วยโควิด-19 ทั้งที่ไม่ได้อยู่ใกล้สถานพยาบาลตามสิทธิ สามารถเข้ารักษาตัวได้ทุกสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้เราขณะนั้น โดยขอเบิกเป็นกรณีฉุกเฉินได้ เพียงแต่เมื่อเป็นโรงพยาบาลรัฐเราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนจะสามารถเบิกจ่ายได้ไม่เกินเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1,000 บาท
อย่างไรก็ตามยืนยันว่าถ้าเขาโรงพยาบาลของรัฐ จะไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งกรณีผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงสามารถเบิกจ่ายได้ตามเท่าที่จ่ายจริง
เกณฑ์การรับสิทธิรักษาโควิด
ผู้ประกันตนแต่ละมาตรา จะสามารถใช้สิทธิรักษาโควิดได้ด้วยเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนจะเข้ารักษาโควิด เราเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิแล้วหรือไม่ เช็กได้ดังนี้
- มาตรา 33 และ 39 ได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
- มาตรา 38 และ 41 ได้รับสิทธิคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
ประกันสังคมดูแลกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโควิด
ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างรักษาตัว เช่น ความดันขึ้น หรือ เกิดการตกเลือด เป็นต้น โรงพยาบาลตามสิทธิจะเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล แต่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคลอด เช่น การตรวจเพื่อการคลอดบุตร ว่าลูกมีสุขภาพเป็นอย่างไรหลังคุณแม่ติดโควิด-19 ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะไปอยู่ในค่าเหมาจ่ายคลอดบุตร 15,000 บาท
เงินทดแทนการขาดรายได้
แน่นอนว่าเมื่อเราป่วยโควิด-19 บางคนอาจลาป่วยพักผ่อนอยู่บ้าน ซึ่งผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 สามารถขอเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ ดังนี้
- มาตรา 33
กรณีนี้เรื่องของการลาป่วย จะอยู่ในสิทธิของการจ้างงาน คือ ช่วง 30 วันแรกนายจ้างจะเป็นคนดูแลว่าสามารถที่จะลาป่วยได้โดยยังได้รับเงินเดือน แต่ตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไป ถ้ามีใบรับรองแพทย์ว่าจำเป็นต้องรักษาตัว ตรงนี้สามารถมาเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมได้ ในอัตราร้อยละ 50 ของเพดานเงินสมทบที่ส่ง
- มาตรา 39
ผู้ประกันตนมาตรา 39 กรณีที่พักรักษาตัวอยู่โดยที่ขาดรายได้ สามารถเบิกในอัตราวันละ 80 บาท
- มาตรา 40
ผู้ประกันตนมาตรา 40 ถ้ามีการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารักษาตัวสามารถเบิกได้ในอัตราวันละ 300 บาท แต่ถ้าเป็นกรณีผู้ป่วยนอก คือ ไม่ได้นอนโรงพยาบาล หากมีใบรับรองแพทย์ว่าต้องมีการหยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป สามารถเบิกเงินรักษาตัวได้วันละ 200 บาท
โดยในผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 และ 2 จะสามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้รวมกันไม่เกิน 30 วัน ส่วนทางเลือกที่ 3 จะสามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้รวมไม่เกิน 90 วัน
เงื่อนไขการขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้
ผู้ประกันตนทุกมาตราสามารถขอรับเงินทดแทนการขาดรายไม่เกิน 2 ปี แต่แนะนำว่าใครที่รู้ตัวว่ามีสิทธิควรรีบดำเนินการขอเงินทดแทนการขาดรายได้ เพราะหากปล่อยไว้นานๆ เข้า เอกสารหาย อาจจะมีปัญหา
มาตรา 40 รักษาโควิดตามสิทธิบัตรทอง
แม้ว่าผู้ประกันตนมาตรา 40 จะสามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้กับสำนักงานประกันสังคมได้ แต่ในการรักษาโควิดนั้น ผู้ประกันตนยังต้องใช้สิทธิบัตรทองอยู่ เพราะสำนักงานประกันสังคมยังไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ลาออกแล้วยังใช้สิทธิรักษาโควิดต่อได้อีก 6 เดือน
หลังผู้ประกันตนมาตรา 33 ลาออก สิทธิการรักษาพยาบาลจะยังใช้ได้เหมือนเดิมต่อไปได้อีก 6 เดือน ดังนั้นสมมติว่าถ้าเราลาออกมาแล้ว 2 เดือน เกิดป่วยโควิด-19 เราจะยังใช้สิทธิประกันสังคมได้ แต่ทางที่ดีเมื่อเราลาออกแล้วควรรีบสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทันทีเลยจะดีที่สุด เราจะได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลของสำนักงานประกันสังคมต่อไปได้
ฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรี
สำหรับผู้ประกันตนโควิด-19 ที่ต้องการเข้ารับเข็มกระตุ้น สามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันควรเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น 3-4 เดือน ส่วนในปีหน้านั้น คาดการณ์ว่าอาจจะฉีดเข็มกระตุ้นเหลือเพียง 1-2 ครั้งต่อปีเท่านั้น อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
ทั้งนี้หากผู้ประกันตนทุกมาตรา ได้รับบริการรักษาโควิด-19 ได้ไม่ดีเท่าที่ควร สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ โทร.1506 หรือส่งข้อความเข้ามาได้ที่เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน – Social Security Office
มีผลแล้ว! มาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม ต.ค.-ธ.ค. ยันสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม
รวมสิทธิประกันสังคม “ว่าที่คุณแม่-คุณพ่อ” ได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง