วันที่ 6 ธ.ค. 2565 นายสัตวแพทย์จิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี พร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผูบริโภค หรือ บก.ปคบ. ลงพื้นที่โรงงานผลิตวัตถุดิบหมูกระทะที่ใช้สารฟอร์มาลิน หมู่ 5 ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่า ของกลางเนื้อสัตว์ วัตถุดิบหมูกระทะ ที่อายัดไว้ในวันที่กรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบอยู่ครบหรือไม่
อาหารแช่ฟอร์มาลิน สารก่อมะเร็ง-พิษถึงชีวิต แนะวิธีเลือกซื้ออาหารสด
"อ.อ๊อด" แนะวิธีสังเกต เนื้อสัตว์-อาหารทะเล หลังบุกยืดเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลีน ส่งร้านหมูกระทะ
หลังก่อนหน้านี้เคยเข้าบุกเข้าตรวจค้นแล้ว พบว่า ที่นี่ไม่มีใบอนุญาตค้าซากสัตว์ ไม่มีเอกสารการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ และไม่มีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ และยังพบว่า ใช้สารฟอร์มาลิน โซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ ออกไซด์ ในขั้นตอนการผลิต
การตรวจภายในโรงงานรอบที่ 2 เจ้าหน้าที่ใช้ระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง แหล่งข่าวซึ่งเป็นชุดตรวจค้นระบุว่า การเข้าตรวจค้นนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ได้นำชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร เข้าไปตรวจวัตถุดิบที่ยังอยู่ในโรงงานด้วย รวมทั้งตรวจสอบว่า สถานประกอบการนี้เข้าข่ายโรงงานหรือไม่
แหล่งข่าวรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นในครั้งนี้ เจ้าของโรงงาน ยอมรับสารภาพว่า ได้ใช้สารฟอร์มาลินในการผลิตวัตถุดิบ เช่น สไบนาง หรือ ผ้าขี้ริ้วจริง
ภายหลังการตรวจค้น ทีมข่าวพยายามสอบถามข้อมูลกับ นายสัตวแพทย์จิรภัทร หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ลงพื้นที่บุกตรวจค้นในครั้งแรก แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลถึงภาพรวมการเข้าตรวจค้นในวันนี้ บอกเพียงแค่ว่า ต้องรายงานให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ทราบก่อน ซึ่งจะเป็นคนเดียวที่ให้ข้อมูลได้
ทีมข่าวพีพีทีวี ยังได้พูดคุยกับเจ้าของโรงงาน แต่เธอปฏิเสธที่จะบันทึกภาพ และเสียง ซึ่งเธอบอกว่า ตอนนี้อยากชี้แจงให้สังคมเข้าใจว่า ที่โรงงานของเธอไม่ได้ผลิตหมู ไปส่งร้านหมูกระทะ ส่วนหมูที่พบในโรงงาน เป็นหมูที่รับมาอีกทอดหนึ่งแล้วส่งขายต่อ ที่อยากออกมาพูด เพราะสงสารร้านหมูกระทะแถวโรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากข่าวนี้
เธอยังบอกว่า ส่วนใหญ่โรงงานจะผลิตสไบนาง หรือ ผ้าขี้ริ้ว ส่งตามร้าน แล้วร้านจะเอาไปทำอาหารต่อ ในขั้นตอนการทำมีการใช้โซดาไฟ แต่เป็นโซดาไฟฟู้ดเกรด เพื่อให้คราบสกปรกหลุดออกโดยง่าย ส่วนสารฟอร์มาลินผสมกับน้ำแช่สไบนางจริง เพื่อให้อาหารไม่บูดง่าย แต่จะแช่ในปริมาณที่น้อยมาก น้ำ 1 ถัง 800 ลิตร จะใส่ฟอร์มาลีน 200 มิตรลิลิตรเท่านั้น โดยเมื่อแช่แล้วก็จะนำมาต้ม แล้วล้างน้ำถึง 4 ครั้ง ก่อนจะบรรจุลงถุง
ส่วนที่พบแกลลอนฟอร์มาลิน ในโรงงานกว่า 50 แกลลอน เธออธิบายว่า เป็นของเก่าเก็บมาเป็นปี ตั้งแต่โรงงานที่เก่า เพราะไม่รู้จะนำไปทิ้งที่ไหน
เจ้าของโรงงาน ยังทิ้งท้ายว่า เรื่องที่ถูกดำเนินคดี ก็ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากเรื่องจบ หลังจากนี้จะปรับปรุงการผลิตวัตถุดิบให้ดีกว่าเดิม และไม่ใช้สารฟอร์มาลินอีก ขณะที่วัตถุดิบที่ผลิต เธอระบุว่า ส่งให้ร้านค้าละแวกโรงงานไม่ได้เยอะมาก ส่วนใหญ่จะกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ แต่ร้านที่มารับของจากโรงงาน เธอจะกระจายต่อที่ไหนบ้าง ไม่สามารถตอบได้