การสอบเข้ามหาวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2566 หรือ TCAS66 กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างร้อนแรง จากเรื่องของดราม่าโจทย์คำถามชวนขบคิดอย่าง “เมนูใดต่อไปนี้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจะและภาวะโลกร้อนมากที่สุด?”
แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ดราม่า และควรได้รับความสนใจเช่นกัน คือเรื่องของการสอบ TGAT และ TPAT “ด้วยคอมพิวเตอร์ (CBT)” ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบนี้
เปิดข้อสอบนายสิบตำรวจ ฉบับจริงเทียบภาพหลุด
กสศ.รายงานผลในรอบ 3 ปี ช่วยเหลือนักเรียนยากจนได้กว่า 3 ล้านคน
ครม.สั่ง เพิ่มราคากลางนมโรงเรียน 0.31 บาท/ถุง/กล่อง
คงต้องเท้าความกันก่อนว่า ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งในการสอบเข้าปีนี้ ได้มีการปรับปรุงการสอบแบ่งเป็น
- TGAT (แบบทดสอบความถนัดทั่วไป)
- TPAT (แบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ)
- และ A-Level (แบบทดสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ)
คะแนนที่ได้จากการสอบเหล่านี้ เด็กนักเรียนจะนำไปสมัครต่อคณะและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ต้องการ โดยปีนี้นอกจากจะเป็นปีแรกที่ปรับการสอบเป็น TGAT และ TPAT แล้ว ยังเป็นปีแรกที่นักเรียนสามารถสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้
ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วราภรณ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาระบบสอบเข้าด้วยคอมพิวเตอร์ เปิดเผยว่า ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อยกระดับประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความถูกต้อง ของกระบวนการทำและตรวจข้อสอบ
โดยการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์นี้ ไม่ใช่การทำข้อสอบจากคอมพิวเตอร์ที่บ้านอย่างที่หลายคนอาจคิด แต่เป็นการสอบที่ศูนย์สอบเหมือนเดิม มีกรรมการคุมสอบเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากการทำข้อสอบในกระดาษ มาเป็นในคอมพิวเตอร์เท่านั้น
“เราพยายามจะให้เกิดความแฟร์กับน้องที่สอบกระดาษ ฉะนั้นน้องต้องมาสอบที่ศูนย์สอบ ไม่ใช่ว่านั่งสอบตามบ้านแล้วแต่ละคนก็ใช้เครื่องตัวเอง เดี๋ยวจะเกิดความไม่แฟร์เกิดขึ้น ก็จะเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทาง ทปอ. ไปคุยกับทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แล้วก็จัดคอมพิวเตอร์ให้น้องมาสอบ แล้วก็มีการสอบ มีกรรมการคุมสอบ ทำให้มันเหมือนกันเลยกับกระดาษ” คณบดีฯ กล่าว
เขาเสริมว่า นี่ก็เพื่อให้แน่ใจว่ามันเป็นวิธีเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเด็กที่ทำข้อสอบในกระดาษทำอย่างหนึ่ง ส่วนเด็กที่ทำข้อสอบในคอมพิวเตอร์ทำอีกอย่างหนึ่ง
เมื่อวันที่ 10-12 ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันที่เด็ก ๆ นักเรียนเข้ารับการทดสอบ TGAT และ TPAT ซึ่งจากเด็กทั่วประเทศมากกว่า 1 แสนคน มีเด็กราว 4,000 คนที่เลือกสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในปีนี้
ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์บอกว่า ฟีดแบ็กหรือผลตอบรับจากเด็ก ๆ ที่เลือกสอบด้วยคอมพิวเตอร์ถือว่าออกมาค่อนข้างดี
“ฟีดแบ็กจากเด็ก ๆ ค่อนข้างจะดีนะครับ มีน้องพูดในเชิงบวกมาเยอะเลย หลาย ๆ คนก็บอกว่าชอบ มีคนเคยทำการทดลองไว้ว่า ทำข้อสอบในคอมพิวเตอร์มันไม่เหมือนการฝนกระดาษ การฝนมันต้องเสียเวลาฝน ยิ่งถ้าผิดมันต้องมานั่งลบ ถู ๆ มันนาน” เขากล่าว
คณบดีฯ เสริมว่า “มีคนเขาทดลองว่าในแต่ละข้อ การสอบด้วยคอมพิวเตอร์จะเร็วขึ้น 2-4 วินาที ข้อสอบมีประมาณ 200 ข้อ ดังนั้นเด็ก ๆ จะมีเวลาที่เหลือมากขึ้น 8-10 นาที ... เด็ก ๆ หลายคนก็ฟีดแบ็กมาแบบนั้น หลายคนรู้สึกชอบที่ได้มาสอบแบบนี้”
สำหรับสาเหตุที่เด็กส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะสอบแบบกระดาษนั้น ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นข้อจำกัดเรื่องของปริมาณคอมพิวเตอร์ที่จัดหาให้ได้ “เราไม่สามารถเปิดเครื่องเป็นแสนเครื่องได้ รอบนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เราก็เลยขอเริ่มที่ประมาณสัก 4,000 คนที่จะเข้ามาสอบใน 3 วันนี้ก่อน”
ในส่วนของความกังวลเรื่องการทุจริต คณบดีฯ ยืนยันว่า โอกาสเป็นไปได้น้อย และอาจจะยากกว่าการลอกข้อสอบกระดาษด้วยซ้ำ
“ด้วยระบบที่เราพยายามจะปิดกั้นมันไว้ ผมว่าสภาพโดยรอบที่มันเป็นคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เราสามารถจัดการกับมันได้ ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้สามารถทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ โอกาสที่น้องจะรอดได้แทบจะไม่มี” ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าว
ขณะที่เรื่องของความแม่นยำในการตรวจข้อสอบเอง ก็เป็นเรื่องที่ยิ่งไม่ต้องกังวล เพราะสามารถตรวจได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และไม่เกิดข้อผิดพลาดเหมือนการสอบแบบฝนคำตอบที่บางครั้งฝนผิดหรือลบแล้วลบไม่หมด ทำให้เสียคะแนนไป
นอกจากนี้ เมื่อตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ก็ทำให้สามารถประกาศผลคะแนนการสอบได้เร็วมากขึ้นกว่าเดิม โดยนักเรียนที่สอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จะทราบผลคะแนนตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. หรือ 3 วันหลังการสอบเท่านั้น แต่เด็กที่สอบด้วยกระดาษ ต้องรอถึงวันที่ 7 ม.ค. หรือราว 3 สัปดาห์กว่าจะทราบผล
ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ประเมินว่า หากผลการใช้งานระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยคอมพิวเตอร์ออกมาดี ก็คาดว่าในปีถัด ๆ ไปจะยังคงมีการใช้ระบบนี้ และอาจขยายจำนวนผู้เข้าสอบได้เพิ่มขึ้นอีก
“ณ วันนี้จำนวนเด็กยังอยู่ที่ประมาณ 4,000 จากกว่า 100,000 คน เราเชื่อว่าถ้าครั้งนี้มันออกมาแล้วผลค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในเชิงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ตัว ทปอ. เองก็วางแผนที่จะขยายตัวให้มีการรองรับปริมาณผู้สอบที่มากขึ้น” คณบดีฯ กล่าว
เขาเสริมว่า “ผมเชื่อว่าตอนนี้ในสังคมไทย การนำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาสอบเริ่มมีการทำกันมากขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่การสอบแบบครั้งหนึ่งในชีวิตเหมือนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อาจเป็นการสอบในวิชาต่าง ๆ อย่างมหาวิทยาลัยเราผมเชื่อว่าหลาย ๆ ที่ก็ใช้ในช่วงโควิด-19 ตามโรงเรียนก็ใช้”
ทั้งนี้ น้อง ๆ คนใดที่มีความสนใจในระบบการทดสอบด้วยคอมพิวเตอร์ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สามารถไปทดลองใช้ให้คุ้นมือได้ที่ https://cbt.mytcas.com ซึ่งนี่เป็นระบบดัมมี สำหรับทดลองใช้ระบบให้คุ้นเคยเท่านั้น ข้อสอบที่ปรากฏไม่ใช่ระดับความยากที่ใช้ในการสอบจริง
นี่นับเป็นก้าวแรกมิติใหม่ของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทย ที่อาจพลิกโฉมรูปแบบการสอบทั้งหมดในอนาคต