สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้เผยแพร่ 10 เรื่องราวดาราศาสตร์สำคัญในปี 2566 เริ่มจาก
1. ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก และดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลก ซึ่งดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) 6 กุมภาพันธ์ 2566 ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,818 กิโลเมตร เวลา 01:30 น. คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ คือช่วงเย็นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:02 น. เป็นต้นไป ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก
รู้จัก! “เรือหลวงช้าง” เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำใหม่ ทร.ไทย
อัปเดตบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือน ม.ค. 66 ใช้จ่ายอะไรได้บ้าง
ส่วนดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเต็มดวงครั้งที่สองของเดือน (Super Blue Moon) 31 สิงหาคม 2566 ระยะจากโลกห่างประมาณ 357,334 กิโลเมตร เวลา 08:37 น. คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป ดูได้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออก
2.ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ 24 มีนาคม 2566
คืนวันที่ 24 มีนาคม 2566 จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ เริ่มสังเกตการณ์ได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก วัตถุทั้งสองอยู่เคียงกันสูงจากขอบฟ้าประมาณ 32 องศา โดยดาวศุกร์จะเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 18:37 น. ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังมีแสงสนธยาทำให้อาจสังเกตปรากกฏการณ์ได้ยาก ดาวศุกร์ค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 19:46 น. อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกประมาณ 16 องศา (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)
“ดวงจันทร์บังดาวศุกร์” ถือเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และนานทีๆจะสังเกตการณ์ได้ในประเทศไทย หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตเห็นดาวศุกร์ค่อยๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์และค่อยๆ โผล่พ้นออกมาทั้งดวงได้อย่างชัดเจน ครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทย คือวันที่ 14 กันยายน 2569
3.จันทรุปราคา - สุริยุปราคา เหนือฟ้าเมืองไทย
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้ผู้สังเกตบนโลกในพื้นที่กว่าครึ่งโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่ง หายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง จะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง บางปีอาจมีได้มากถึง 5 ครั้ง
จันทรุปราคาเงามัว 6 พฤษภาคม 2566 สังเกตได้ในบริเวณทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรปตะวันออก ยุโรปใต้ แอฟริกา มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และแอนตาร์กติกา สำหรับประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.14 - 02.32 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทพมหานคร) ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลาประมาณ 22.14 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 เข้าสู่เงามัวมากที่สุดเวลาประมาณ 00.23 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนออกจากเงามัว จนสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลาประมาณ 02.32 น.
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เกิดจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลงเล็กน้อยเท่านั้น จึงสังเกตด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัดเจนนัก
จันทรุปราคาบางส่วน 29 ตุลาคม 2566 สังเกตเห็นได้ในบริเวณทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แปซิฟิก แอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย อาร์กติก แอนตาร์กติกา สำหรับประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.01 - 05.26 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทพมหานคร) ในคืนดังกล่าว ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 01.01 น. แสงสว่างของดวงจันทร์จะลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก จนกระทั่งเวลาประมาณ 02.35 น.
ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน สังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 03.14 น. ประมาณร้อยละ 6 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 03.52 น. รวมเวลาเกิดจันทรุปราคาบางส่วนนาน 1 ชั่วโมง 17 นาที จากนั้นดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกอีกครั้ง และสิ้นสุดปรากฏการณ์โดยสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 05.26 น. สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่จะสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยครั้งถัดไป เป็น “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในวันที่ 8 กันยายน 2568
สุริยุปราคา ในวันที่ 20 เมษายน 2566 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบผสม (Hybrid Solar Eclipse) เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129 แนวคราสจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทร แต่ก็พาดผ่านแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ ๆ ด้วย อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 09:42 - 12:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1 นาที 16 วินาที
สุริยุปราคาแบบผสม (Hybrid Solar Eclipse) เป็นสุริยุปราคาที่เกิดทั้ง 2 ประเภทในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse) และสุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง
สำหรับประเทศไทยเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน ตั้งแต่เวลาประมาณ 10:30 - 11:33 น. เห็นได้ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน ดังนี้ จังหวัดกระบี่ (ร้อยละ 0.01) นครศรีธรรมราช (ร้อยละ 0.32) ตรัง (ร้อยละ 0.61) พัทลุง (ร้อยละ 0.93) สงขลา (ร้อยละ 1.77) สตูล (ร้อยละ 1.77) ปัตตานี (ร้อยละ 2.82) ยะลา (ร้อยละ 3.22) และนราธิวาส (ร้อยละ 4.06) รวมถึงบางส่วนของจังหวัดตราด (ร้อยละ 0.02) อุบลราชธานี (ร้อยละ 0.1) และศรีสะเกษ (ร้อยละ 0.01)
4.ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี
ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี (The Greatest Brilliancy) เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม มีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย ในปี 2566 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุด 2 ครั้ง ได้แก่ ช่วงหัวค่ำ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 21.09 น. และช่วงเช้า ในวันที่ 18 กันยายน 2566 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03.25 น. จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น
5.ดาวเคราะห์ใกล้โลก
ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 27 สิงหาคม 2566 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวเสาร์จะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี 3 พฤศจิกายน 2566 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า