สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายด้านสังคม โดนเนไปที่นโยบายสวัสดิการสังคม นโยบายด้านสุขภาพ นโยบายการศึกษาระดับพื้นฐาน และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
ผ่า 4 นโยบายเศรษฐกิจในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 จากพรรคการเมือง
เลือกตั้ง 2566 : "บิ๊กตู่" แจงนโยบายบัตรสวัสดิการพลัส ไม่ได้เกทับพรรคการเมืองอื่น
นโยบายสวัสดิการสังคม
หลายพรรคการเมืองแข่งขันกันที่ สวัสดิการสังคมของคนไทยในช่วงวัยต่างๆ และกลุ่มเปราะบางอย่างคึกคัก โดยเฉพาะ "การให้เงิน" แก่ประชาชน เช่น บางพรรคมีนโยบาย “ท้องปุ๊บ รับปั๊บ” เพื่อช่วยเหลือแม่ตั้งครรภ์โดยจะให้เงินเดือนละ 3,000 บาทตลอด 9 เดือน
ในขณะที่ 2 พรรคการเมืองเสนอให้สวัสดิการถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทแก่ผู้สูงอายุ และมีหลายพรรคการเมืองที่เสนอเงินช่วยเหลือในการดูแลเด็กเล็ก
สวัสดิการเหล่านี้มีต้นทุนทางการคลังในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ บางพรรคยังเสนอนโยบายลดภาษีควบคู่ไปด้วย ซึ่งยิ่งทำให้ความเป็นไปได้ในการจัดสวัสดิการตามที่ประกาศลดลงไปอีกจนอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
ขณะที่บางนโยบาย มีต้นทุนทางการคลังสูงที่สุด อย่าง ให้เงินสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งมากกว่าอัตราปัจจุบันที่ 600-1,000 บาทหลายเท่าตัว โดยต้องใช้เงินถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีพรรคการเมืองเดียวใน 2 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายดังกล่าวโดยระบุแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้โดยรวม
นอกจากนี้ นโยบายสวัสดิการบางอย่างที่พรรคการเมืองเสนอยังอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย เช่น นโยบายการเพิ่มสิทธิลาคลอด ซึ่งมี 3 พรรคการเมืองเสนอตรงกันว่าจะเพิ่มสิทธิในการลาเป็น 180 วัน
ขณะที่ การวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่า ในปัจจุบันมีแรงงานหญิงร้อยละ 40 ที่ลาออกจากงานทั้งโดยสมัครใจและไม่สมัครใจเมื่อตั้งครรภ์ ทำให้จะไม่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มวันลาคลอดที่เสนอกันขึ้น
และการเสนอเพิ่มจำนวนวันลาคลอดของพรรคการเมืองก็ไม่ได้มาพร้อมการเสนอเพิ่มเงินชดเชยระหว่างลาคลอด ซึ่งในปัจจุบันแรงงานหญิงจำนวนมากไม่ได้ลาคลอดเต็มระยะเวลา 98 วันอยู่แล้ว เพราะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายเพียง 45 วัน จึงต้องกลับไปทำงานก่อนกำหนดเพื่อหารายได้
นโยบายสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมจึงควรมุ่งให้ความคุ้มครองในทุกมิติ โดยนอกจากสิทธิประโยชน์ในรูปตัวเงินในระดับที่เหมาะสมกับฐานะการคลังของประเทศแล้ว พรรคการเมืองควรต้องพิจารณาปรับปรุงบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มจำนวนและยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้จริง โดยในทางปฏิบัติ พรรคการเมืองควรมุ่งทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการให้สวัสดิการแก่ประชาชนในพื้นที่
นโยบายด้านสุขภาพ
พรรคการเมืองต่างๆ เสนอนโยบายด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเน้นไปที่การรับมือผู้สูงอายุทั้งด้านการเงิน บำนาญ สวัสดิการต่างๆ และที่อยู่อาศัย รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการตั้งสถานพยาบาลใกล้บ้าน การดูแลผ่านระบบแพทย์ทางไกล ไปจนถึงการ เพิ่มเงินให้ อสม. และผลักดัน “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” (Medical Tourism)
ซึ่งสิทธิเหล่านี้มีต้นทุนทางการคลังในระดับสูง แต่สิ่งที่พรรคการเมืองควรทำ คือ สนับสนุนกฎหมายขยายเพดานเงินเดือนที่ใช้คำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นจาก 15,000 บาทต่อเดือนที่ใช้มาแล้ว 30 ปี ซึ่งจะช่วยให้รัฐมีทรัพยากรเพิ่มขึ้นและสามารถนำมาเพิ่มบำนาญและขยายบริการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตน โดยเงินสมทบที่เก็บเพิ่มจะไม่กระทบผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้รัฐบาลควรมีนโยบายกระจายอำนาจการบริหารสถานพยาบาลของรัฐ โดยคำนึงถึงระบบส่งต่อผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยทำให้สถานพยาบาลตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น
ส่วนการ สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การรับคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย อาจไม่ได้ช่วยเรื่องการท่องเที่ยวแต่ยังเป็นการดึงค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนให้สูงขึ้นด้วย แย่งทรัพยากรและเพิ่มภาระทางการเงินของโครงการหลักประกันสุขภาพและกองทุนประกันสังคมด้วย
ในทางตรงกันข้าม พรรคการเมืองควรพิจารณานโยบายเปิดให้แพทย์และพยาบาลต่างประเทศเข้ามารักษาคนไข้ต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลที่จะรุนแรงขึ้นจากการรับคนไข้ต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้น ควรทบทวนนโยบายกัญชา สร้างกลไกควบคุมการใช้กัญชาที่รัดกุมและโปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อเยาวชน สตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ขับขี่ยานพาหนะ ที่อาจได้รับกัญชาที่ถูกใส่ไว้ในอาหารโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัว
ยกระดับศักยภาพของระบบสุขภาพในระยะยาวเพื่อให้สามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำตลอดจนอุบัติภัยทางสุขภาพต่างๆ โดยพัฒนา “องค์กรเจ้าภาพ” ที่ติดตามปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น องค์กรดังกล่าวจะสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นเสนาธิการให้แก่ฝ่ายนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องตั้งโครงสร้างใหม่ เช่น ศบค. ซึ่งแม้มีอำนาจมาก แต่ก็ขาดความพร้อมในการรับมือปัญหาในเชิงรุก (Proactive)
นโยบายการศึกษาระดับพื้นฐาน
พรรคการเมืองส่วนใหญ่ควรพิจารณาปรับปรุงนโยบายด้านการศึกษาที่เสนอใน 2 เรื่อง
ประการแรก นโยบายการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยของหลายพรรคการเมืองยังจำกัดอยู่เฉพาะการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ การเขียนโปรแกรม หรือการตอกย้ำค่านิยมดั้งเดิมให้แก่นักเรียน
ประการที่สอง ยังไม่มีพรรคใดเสนอที่จะปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา
ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการทำนโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองต้องการ โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณทั้งหมดในระดับที่ไม่ต่ำกว่าของประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลับมีผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนต่ำกว่าของประเทศเหล่านั้นมาก ซึ่งสะท้อนว่า การใช้งบประมาณน่าจะยังไม่มีประสิทธิภาพ
และมี ข้อเสนอแนะ 3 ประการต่อพรรคการเมืองในการปรับนโยบายการศึกษาคือ
- เร่งปรับหลักสูตรแกนกลางของการศึกษาพื้นฐานใหม่ โดยวางเป้าหมายการพัฒนาคนให้มี “สมรรถนะโดยรวม” มากกว่าการเรียนภาษาต่างประเทศหรือทักษะบางด้าน โดยให้ครอบคลุมทั้งการพัฒนาความรู้ ทักษะและเจตคติ
- ส่งเสริมการเรียนฟรีในระดับการศึกษาพื้นฐานก่อน โดยจัดสรรทรัพยากรมากขึ้นให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- ปรับงบประมาณด้านการศึกษาใหม่ โดยลดงบประมาณส่วนที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนและครู เพื่อให้สามารถเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงมากขึ้น
หากเปรียบเทียบกับนโยบายด้านอื่น ๆ เช่นนโยบายการให้สวัสดิการสังคมแล้ว นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ยังไม่ได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองต่าง ๆ มากนัก ตัวอย่างนโยบายที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอได้แก่ การใช้พลังงานหมุนเวียน การขายคาร์บอนเครดิต การแก้ไขระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า และการแก้ไขปัญหา PM 2.5 เป็นต้น
นโยบายที่สำคัญแต่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอเลยคือ นโยบายที่เกี่ยวกับการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่มากต่อประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับที่ 9 ของโลกตามการประเมินของ Global Climate Risk Index
นอกจากนี้ พรรคการเมืองก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนนักในการทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ. 2065 หรือ พ.ศ. 2608 ตามที่ประกาศต่อประชาคมโลก
ขณะที่ นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ถูกบางพรรคการเมืองลดทอนลงจนเหลือเพียงการสร้างรายได้จาก “คาร์บอนเครดิต” ของเกษตรกร ซึ่งเป็นการแปลงนโยบาย “สิ่งแวดล้อม” เป็นนโยบาย “ปากท้อง” ทั้งที่การจะสร้างรายได้ดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง และทำให้คุณภาพคาร์บอนเครดิตไทยสูงขึ้นนั้น จะต้องพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะต้องดำเนินการในด้านต่างๆ อีกมาก
นโยบายการลดค่าไฟฟ้าน่าจะมีความท้าทายในทางปฏิบัติมาก เนื่องจากข้อจำกัดในปัจจุบันจากสัญญาการซื้อขายพลังงานระยะยาวจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน และการสำรองไฟฟ้าของประเทศในระดับสูงมาก แม้บางพรรคการเมืองเสนอนโยบาย “รื้อโครงสร้างพลังงาน” แต่ก็ยังไม่เสนอรายละเอียด ดังนั้นพรรคการเมืองที่เสนอนโยบาย “ลดค่าไฟฟ้า” หรือ “รื้อโครงสร้างพลังงาน” จึงควรให้รายละเอียดต่อแนวทางในการบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวด้วย
ปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาที่สำคัญ เป็นเรื่องดีที่หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่การแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดผลสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายกระทรวง ซึ่งจะเป็นเรื่องท้าทายมากในรัฐบาลผสมที่น่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจึงควรสร้างฉันทามติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากกว่าจะแข่งขันกันทางนโยบายเหมือนในเรื่องอื่น