วันที่ 29 มี.ค. 2566 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานจากสถานการณ์ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางเกิดพายุฤดูร้อน
โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ซึ่งในช่วงวันที่ 27 – 29 มี.ค. 2566 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 7 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม (อ.พยัคฆภูมิพิสัย) สุรินทร์ (อ.จอมพระ ท่าตูม) อุดรธานี (อ.หนองหาน) ยโสธร (อ.มหาชนะชัย) นครพนม (อ.เมืองฯ ท่าอุเทน นาหว้า ศรีสงคราม) สกลนคร (อ.โพนนาแก้ว) และร้อยเอ็ด (อ.เกษตรวิสัย ธวัชบุรี ปทุมรัตต์) รวม 13 อำเภอ 28 ตำบล 68 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 313 หลัง
ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้างหรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป