สถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาวารสารศาสตร์ เผยแพร่รายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับ “สถานการณ์ข่าวบนสื่อดิจิทัล” ในประเทศต่าง ๆ โดยประเมินประเทศไทยว่า “การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเป็นจุดเปลี่ยนทั้งประเทศไทยและเสรีภาพสื่อ”
สถาบันรอยเตอร์ฯ ระบุว่า “การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นไปได้สำหรับประเทศไทยและเสรีภาพสื่อ การสำรวจครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การประท้วงที่นำโดยเยาวชนในปี 2563”
PPTV ติดอันดับ สื่อที่น่าเชื่อถือของไทย จาก Reuters
สื่อนอกเผย “ดอน” ส่งจดหมายเชิญเมียนมา-อาเซียน ประชุมไม่เป็นทางการ
สรุปให้! 16 ปี ITV จาก "สื่อเสรี" ถึงวัน "จอดำ" สุดท้ายถูกปิดเพราะอะไร?
ฝ่ายค้านเพื่อการปฏิรูปของไทยได้ที่นั่งมากที่สุดและได้คะแนนนิยมมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุน้อยที่ส่งข้อความที่ชัดเจนถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับการปฏิเสธพรรคที่สนับสนุนโดยทหารซึ่งปกครองประเทศไทยมาเกือบทศวรรษ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคฝ่ายค้านจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการที่ “ไปสุดทาง” ต่าง ๆ ได้หรือไม่ เนื่องจากเสียงฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังคงมีอยู่ในระบบการเมืองและสื่อ
สถาบันรอยเตอร์ประเมินว่า ความสำเร็จอันน่าตกตะลึงของพรรคก้าวไกลที่ได้ที่นั่งเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผลมาจากแคมเปญทางโซเชียลมีเดียที่สร้างสรรค์ซึ่งดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุน้อยได้ และเสนอความเป็นผู้นำทางการเมืองที่แตกต่างออกไปจากเดิม ช่วงเวลาการเลือกตั้งยังเห็นการรายงานข่าวที่เข้มข้นเกี่ยวกับความบกพร่องในการบริการสาธารณะและการคอร์รัปชันของภาครัฐ
รอยเตอร์บอกว่า ก่อนช่วงการเลือกตั้ง สื่อกระแสหลักในไทยมักถูกจำกัดในแง่ของการรายงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์ โดยสื่อหลักมักรายงานให้น้ำหนักรัฐบาล ในขณะเดียวกัน สื่อช่องทางใหม่ ๆ เช่น วอยซ์ทีวี พยายามนำเสนอมุมมองทางเลือกมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การคุกคามโดยทางการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลของนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders: RSF) ระบุว่า กฎหมายหมิ่นประมาทและอาชญากรรมทางไซเบอร์ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบในประเทศไทยเพื่อคุกคามนักข่าว และรัฐบาลยังมีอำนาจที่จะระงับใบอนุญาตของสื่อที่คุกคาม “ความสงบของสาธารณะ”
นอกจากนี้ ยังมีอดีตนักข่าวหลายคนที่สร้างและเผยแพร่เนื้อหาข่าวผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น ยูทูบ (YouTube) ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ส่วนบุคคล
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ข่าวที่เชื่อถือได้มักจะพบได้จากเพจที่สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นมากกว่า แล้วขยายออกไปผ่านเพจที่เข้าถึงผู้อ่านกว้างขวาง เช่น เพจบันทึกสายไหม (สังคมสงเคราะห์), เพจ Watch Dog (เฝ้าระวังคอร์รัปชัน) และ เพจ Drama Addict (ดราม่าในสังคม)
รอยเตอร์ประเมินว่า ประชาชนชาวไทยมีความกระหายใคร่รู้ใน “ข่าวที่กระตุ้นความรู้สึก” เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาชญากรรมและความเชื่อเหนือธรรมชาติ โดยพลเมืองมักจะทำการสอบสวนด้วยตนเองทางออนไลน์โดยใช้เทคนิคที่เมื่อก่อนมีให้สำหรับนักข่าวเท่านั้น
ผู้ตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ซึ่งเรียกว่า “นักสืบโซเชียล” ได้ทำให้เรื่องราวจำนวนมากโด่งดังจนสื่อกระแสหลักต้องวิ่งตาม กระนั้น สำนักข่าวหลักยังคงดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมและสัมภาษณ์ต่อยอดด้วยตัวเองต่อจากประเด็นโซเชียล
การรายงานข่าวและละครเป็นรายการยอดนิยมของคนไทย เห็นได้จากการเพิ่มเวลาโฆษณาบน OTT TV (ชมรายการโทรทัศน์บนอินเทอร์เน็ต) และบริการสตรีมมิ่ง วิดีโอแบบสั้นบน เซฟบุ๊ก, ยูทูบ และ TikTok ก็ได้รับความสนใจ และมีความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน และองค์กรข่าวส่วนใหญ่ที่มีการเข้าถึงออนไลน์ก็มีการนำเสนอในทั้ง 3 แพลตฟอร์มดังกล่าว
การใช้งาน TikTok ในไทยเติบโตขึ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง คือ 51% ใช้ TikTok เพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ และมีถึง 30% ที่ใช้สำหรับการเสพข่าว เพิ่มขึ้น 8% จากปีที่แล้ว
ในขณะที่ผู้บริโภคข่าวบางรายยังคงนิยมชมข่าวรูปแบบวิดีโอที่ยาวกว่าผ่านยูทูบ การสำรวจของรอยเตอร์ในปีนี้ยืนยันว่า คนไทยชอบดูข่าวออนไลน์มากกว่าอ่านหรือฟัง ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่แสดงแนวโน้มดังกล่าว
การโฆษณายังคงเป็นรูปแบบธุรกิจหลักสำหรับผู้เผยแพร่ข่าว โดยมีโฆษณาจำนวนมากบนเว็บไซต์ และมีการใช้การจัดวางผลิตภัณฑ์อย่างแพร่หลายในรายการข่าวโทรทัศน์ โฆษณาสิ่งพิมพ์ลดลง ขณะที่การสมัครสมาชิกเว็บไซต์ข่าวเป็นระบบ Subscription นั้นยังคงเป็นเรื่องที่หายากมากในประเทศไทย
เรียบเรียงจาก Reuters Institute for the Study of Journalism
ภาพจาก AFP