"อัจฉริยะ" แฉ! เส้นทาง "ส่วยมูโนะ"

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ก่อนหน้านี้มีเพจดังและ สส.วิโรจน์ พรรคก้าวไกล แฉถึงตัวละครหลักในการเก็บ "ส่วยมูโนะ" ว่าคนนั้นคือ "จ่าฟาโร" นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 5 วัน ยังไม่มีใครให้เห็นตัว "จ่าฟาโร" จนเกิดคำถามขึ้นว่า "จ่าฟาโร" เป็นใคร เป็นเจ้าที่รัฐ หรือเป็นนามแฝง หรือมีตัวตนจริงหรือไม่

ทีมข่าวพีพีทีวี พยายามตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลจากในพื้นที่ ก็พบว่า "จ่าฟาโร" นั้นมีตัวตนจริง และเป็นตำรวจอยู่ที่ สภ.มูโนะ มือเก็บ "ส่วยมูโนะ" ส่งนาย คนที่ถูกพูดถึงคือ "จ่าฟาโร"  ซึ่งเพจ Golok Spotlight ที่ออกมาแฉก่อนหน้านี้ โพสต์ความคืบหน้าล่าสุดว่า "จ่าฟาโร" ปิดเฟซบุ๊กหนีไปแล้ว และก็มีข้อสงสัยว่าตกลง "จ่าฟาโร" เป็นใครเป็นตำรวจจริงหรือไม่ 

แฉ “ส่วยมูโนะ” ต้นเหตุโกดังพลุระเบิด จ่าย 3-5 หมื่น แลกซุกพลุในพื้นที่

ผบช.ภ.9 สั่งสอบ “ส่วยมูโนะ” จ่ายครึ่งแสนต่อเดือน แลกตั้งโกดังพลุกลางชุมชน

ทีมข่าวพีพีทีวี สอบถามไปยังตำรวจที่ทำงานใน สภ.มูโนะ ก็ยอมรับว่าตำรวจยศจ่า ที่มีชื่อ ฟ. ใน สภ.มูโนะ มีคนเดียว ชื่อจ่ามาหาหมัดฟาโร มีตำแหน่งเป็นตำรวจจราจร  

เมื่อถามว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับส่วยผิดกฎหมายในพื้นที่หรือไม่ ตำรวจที่ สภ.บอกว่าไม่รู้เรื่องนี้

ทีมข่าวจึงสอบถามไปยัง 1 ใน 4 เสือ สภ.มูโนะที่ถูกสั่งย้าย ว่าใน สภ.มีตำรวจชื่อ "จ่าฟาโร" หรือไม่ ก็ยอมรับว่ามีจริง แต่ไม่รู้เรื่องการเรียกรับส่วย

สอดคล้องกับข้อมูลของนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ออกมาแฉเพิ่ม อ้างว่า “จ่าฟาโร” มือเก็บส่วนในพื้นที่มูโนะ มีชื่อเต็ม ๆ คือ จ.ส.ต.มาหาหมัดฟาโร ตันยีนายู ตำรวจจราจร สภ.มูโนะ    

 เขายังอ้างถึงข้อมูลที่ได้มาว่า “จ่าฟาโร” คนนี้ จะทำหน้าที่ตะเวนเก็บส่วยกลุ่มธุรกิจสีเทาในพื้นที่ ทั้งน้ำมันเถื่อน ของหนีภาษี ยาเสพติด และของผิดกฎหมาย 

สำหรับพื้นที่นราธิวาส ถือเป็นพื้นที่ความมั่นคง สินค้าประเภทพลุ ดอกไม้ไฟ ถือเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตนำเข้า เคลื่อนย้ายหรือจัดเก็บ โดยขั้นตอนแรกต้องผ่านการขออนุญาตจาก 5 หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล คือกระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนจะมาถึงการดูแลของตำรวจในพื้นที่ เป็นขั้นตอนสุดท้าย 

นายอัจฉริยะ อ้างว่าถึงขั้นตอนนี้ “จ่าฟาโร” จะทำหน้าที่เก็บส่วยเป็นค่าดูแล แล้วส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชา โดยมีการเรียกรับเป็นรายเดือน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มาโกดังที่เกิดเหตุต้องจ่ายส่วยให้ตำรวจ เดือนละ 50,000 บาท

นายอัจฉริยะ ยังแฉอีกว่า การเก็บส่วยไม่ได้มีแต่ส่วนของตำรวจท้องที่เท่านั้น ยังต้องจ่ายส่วยในส่วนของตำรวจตระเวนชายแดนด้วย เพราะผู้ประกอบการจะต้องนำเข้าพลุมาจากเมืองจีน และขนย้ายส่งไปขายยังประเทศมาเลเซีย ปีละ 2 ครั้ง คือช่วงวันชาติมาเลเซีย และวันฮารีรายอ เพื่อเป็นค่าดูแลหรือค่าผ่านทางซึ่งจะลักลอบขนส่งผ่านทางเรือ

นายอัจฉริยะบอกว่า พื้นที่ของ สภ.มูโนะไม่ใช่พื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ถือเป็นพื้นที่ชั้นดีที่มีการเรียกรับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายจำนวนมาก โดยในวันพรุ่งนี้ตัวเองจะเดินทางไปยื่นเรื่องกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน และมอบหมายให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ทำหน้าที่ตรวจสอบ 5 หน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลเรื่องพลุ รวมถึงสอบจ่าฟาโรและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย

อย่างที่เราได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ การที่จะนำเข้า จัดเก็บ หรือ จำหน่ายสินค้าประเภทพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ นั้นไม่ง่าย เพราะถือเป็นสินค้าอันตราย เพราะฉะนั้นจะต้องขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน คือ อำเภอ อบต.หรือเทศบาล อุตสหกรรมจังหวัด และฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า    

ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับข้อมูลของรอง ผบ.ตร พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ระบุว่า หากไล่เรียงตามลำดับขั้นตอนแล้วก็พบว่ามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุแล้วทุกหน่วยงานจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ และจะต้องถูกดำเนินคดีในความผิดเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

จากกข้อมูลของชาวบ้านในพื้นที่ ที่แฉว่าคนเก็บส่วยไม่ได้มีแค่ตำรวจ แต่มีทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและทหาร ร่วมด้วย

เมื่อดูจากข้อเท็จจริง ด่านแรกที่ผู้ประกอบการจะนำเข้าพลุมาในประเทศได้นั้น จะต้องนำเข้าผ่านทางชายแดน ซึ่งชายแดนนราธิวาส มีทั้ง ตชด.และ กองทัพภาคที่ 4 ดูแล จากนั้นมาถึงจุดพักสินค้า ก็จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่มีอำนาจดูแลตรวจสอบ ส่วนตำรวจท้องที่จะเป็นหน่วยงานสุดท้ายที่เกี่ยวข้อง คำถามก็คือเป็นไปได้หรือไม่ที่การเก็บส่วยโกดังพลุ หรือ สิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ จะมีการจ่ายให้หน่วยงานของตำรวจเพียงหน่วยงานเดียว

Bottom-BDMS Bottom-BDMS

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ